homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

เที่ยวหนึ่งวันที่บางพัฒน์….

เรื่อง    กวินทรา  ใจซื่อ
ภาพ     โครงการความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

เส้นทางที่ขนาบไปด้วยป่าชายเลนที่แน่นขนัด  กำลังพาเรามุ่งหน้าสู่บ้านบางพัฒน์ หมู่บ้านที่มีเรื่องราวเล่าขานกันมานานถึงความสามัคคีในการพัฒนาหมู่บ้านจนเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นๆ ได้กล่าวขวัญถึงเรื่องราวความสามัคคีของชุมชนแห่งนี้

สะพานคอนกรีตที่ทอดตัวยาว ระยะทางประมาณ 300  เมตร ผ่านทะเลอันดามันและป่าโกงกางผืนใหญ่  มีจุดสิ้นสุดที่บ้างบางพัฒน์  หมู่ที่ 8  ต.บางเตย อ.เมือง   จ.พังงา ชุมชนขนาดเล็กตั้งอยู่ในเกาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอ่าวพังงา     ชาวบ้านที่นี่เป็นลูกน้ำเค็มเต็มตัว  การหาอยู่หากินล้วนต้องพึ่งพาทรัพยากรทางทะเล  ด้วยเพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน การทำประมงพื้นบ้านจึงกลายเป็นอาชีพหลักของคนที่นี่

ป๊ะยามาดี  หรือนายสวัสดี  วาหะรักษ์  อดีตผู้ใหญ่บ้านคนแรกแห่งชุมชนบ้านบางพัฒน์  เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของชุมชนที่ผ่านมาเมื่อสมัยยังเด็กว่า   ชุมชนบ้านบางพัฒน์มีอดีตยาวนานกว่า 100 ปีมาแล้ว คนที่ค้นพบบ้านบางพัฒน์เป็นคนแรกมีชื่อว่านายด้วน   บุตรเหรด  เป็นชาวจังหวัดกระบี่ ที่แจวเรือผ่านมาแล้วได้ขึ้นมาอาศัยอยู่ชั่วคราว     ต่อมาในปี พ.ศ. 2496   โต๊ะยีมาเสน     ศุภรส  เป็นคนแรกที่เข้ามาสร้างหลักปักฐานอาศัยอยู่ในเกาะแห่งนี้ จนเป็นชุมชนบ้านบางพัฒน์ในปัจจุบัน  

แต่เดิมนั้นชุมชนบ้านบางพัฒน์เรียกว่าบ้านบางลิงสาเหตุมาจากในชุมชนมีลิงกังฝูงใหญ่อาศัยอยู่ในป่าโกงกางเป็นจำนวนมาก     ที่มาของการเปลี่ยนชื่อจากบ้านบางลิงมาเป็นบ้านบางพัฒน์นั้น ป๊ะยามาดี ได้เล่าให้ฟังว่า  ในสมัยอดีต ชุมชนบ้านบางพัฒน์เป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลและกันดารที่สุดในจังหวัดพังงา   ชุมชนจึงล้าหลังกว่าชุมชนอื่นๆ   การเข้ามาให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ในชุมชนมีความล่าช้ามาก  “เราไม่ขอให้ใครมาช่วย  เพราะขอแล้วเขาก็ไม่ให้    เราพึ่งตัวเองดีที่สุด”   ป๊ะยามาดีเล่า

การพัฒนาชุมชนของบ้านบางพัฒน์จึงเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านในชุมชนทุกคน  ในอดีตนั้น  ชาวบ้านมีกฎข้อยึดถือปฏิบัติในชุมชนร่วมกันคือ  ในทุกวันศุกร์ทุกคนจะวางมือจากงานส่วนตัว  เพื่อที่จะมาร่วมกันพัฒนาชุมชน  หากใครไม่เข้าร่วมจะปรับเป็นเงินครั้งละ 50 บาท  ที่ผ่านมาได้ปรับเงินไปเพียง 100 บาทเท่านั้น    นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้บริจาคปูไข่นอกกระดองครอบครัวละ 1-2 ตัว  เพื่อนำไปรวมกันที่ธนาคารปูของชุมชน  หลังจากที่ปล่อยลูกปูสู่ทะเลแล้ว ก็จะนำแม่ปูไปขายแล้วนำเงินเข้ากองกลางเพื่อนำไปพัฒนาชุมชน

สภาพบ้านเรือนที่ปลูกสร้างขึ้นนั้นตั้งอยู่บนเกาะท่ามกลางป่าโกงกางผืนใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังเดี่ยวยกพื้นสูงเหนือระดับน้ำทะเล  สะพานที่ทอดตัวยาวเข้าสู่บ้านแต่ละหลัง นำกิ่งไม้จากป่าชายเลนมาใช้ประโยนช์อย่างรู้คุณค่า มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ส่วนหนึ่งคือการจัดการทรัพยากรไม้ป่าชายเลนอย่างรู้คุณค่าของชุมชนเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน  จากอดีตที่เคยใช้ไม้โกงกางสร้างบ้าน  สร้างสะพาน และทางเดินเข้าบ้าน   ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นสะพานคอนกรีต เพื่อลดการตัดไม้ในพื้นที่ป่าชายเลน   เหลือเพียงการทำสะพานทางเข้าบ้านแต่ละหลังและทำลานบ้าน เพื่อสำหรับใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ เช่น  ตากปลา  ตากกุ้งเคยเพื่อนำไปทำกะปิ  เป็นต้น    นอกจากนี้ชาวบ้านได้ร่วมจัดกิจกรรมเฝ้าระวังดูแลรักษาป่า   เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการเพาะขยายพันธุ์กล้าไม้ป่าชายเลนเพื่อนำไปปลูกป่าในชุมชน  ซึ่งเป็นการสร้างจิตสำนึกให้แก่คนรุ่นใหม่  ให้รักษาผืนแผ่นดินถิ่นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษที่ได้ดูแลไว้ให้เป็นแหล่งหาอยู่หากิน  ของลูกหลานในชุมชน

เสน่ห์ของที่นี่มีให้ชื่นชมมากมาย ทั้งอัธยาศัย ความโอบอ้อมอารีมีน้ำใจของชาวบ้าน  สภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม อุดมสมบูรณ์    จึงสร้างความตื่นตาตื่นใจได้ไม่น้อย    และหากคุณได้แวะมาสักครั้ง  บ้านบางพัฒน์ก็จะเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่จะสร้างความประทับใจไปอีกนาน

         

       

ขอขอบคุณ
ชาวบ้านบางพัฒน์  หมู่ที่ 8  ต.บางเตย อ.เมือง   จ.พังงา
คุณบรรดิษฐ์  ติงหวัง  เจ้าหน้าที่ภาคสนาม โครงการความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: