homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ภูเก็ตจัดการตนเอง...ทางที่ (ควร) เลือก (จบ)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2554

ศ.ดร.สุจิต  บุญบงการ  ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวถึงเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นว่า “ความคงอยู่ของระบบอุปถัมภ์และการคอรัปชั่นยังคงมีอยู่ในระดับสูงเพราะว่าฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมืองระดับชาติทั้งนักการเมือง ข้าราชการเกาะกุมอำนาจไว้ แล้วใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่คุมคนระดับล่างกลายเป็นคนที่อยู่ภายใต้อาณัติ โดยการให้ความช่วยเหลือเห็นว่าเหมาะสม ถูกต้องอาจจะตรงหรือไม่ตรงต่อผลประโยชน์และความต้องการของคนระดับล่างก็ตาม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคการเมืองทุกพรรคแข่งกันเสนอระบบอุปถัมภ์ให้กับชาวบ้าน”

เราผูกพันธ์กับระบบอุปถัมภ์มาเนิ่นนานจนแยกไม่ออกระหว่างความถูกต้องกับการอุปถัมภ์ จนบ่อยครั้งเรามักจะละเว้นความความถูกต้องและเข้าใจว่าการอุปถัมภ์นั้นคือความถูกต้อง

ศ.ดร.สุจิต  บุญบงการได้กล่าวถึงระบบอุปถัมภ์ว่า “คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทำให้ชาวบ้านมีความเข้มแข็งขึ้น เป็นตัวของตัวเองขึ้น ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าความต้องการอยากจะให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งที่จะยืนหยัดบนตัวของตัวเองได้ไม่ต้องพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ของคนระดับที่มีอำนาจรัฐไม่มีออกมาอย่างชัดเจน มีนโยบายกระจายอำนาจ นโยบายอย่างนั้น อย่างนี้แต่ยังมองไม่เห็นว่าตรงไหนจะทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง ถ้าประชาชนยังไม่มีความเข้มแข็งประชาธิปไตยก็ยังมีไม่ได้ ดังนั้นเมื่อระบบอุปถัมภ์ยังคงอยู่ การคอรัปชั่นยังมีอยู่ตลอด จึงกลับมาดูว่าต้องมีการกระจายอำนาจเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ การกระจายอำนาจมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน จุดแข็งคือทำให้ประชาชนสามารถกำหนดชะตาชีวิตของเขาเองได้มากขึ้น ดูแลชุมชนของเขาเองได้มากขึ้น”

หลายคนอาจมองไม่เห็นทางออกถ้าหากเราจะปฏิเสธระบบอุปถัมภ์แล้วประชาชนจะกำหนดชะตาชีวิตและทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้อย่างไร? ...แน่นนอนว่าต้องได้ เพียงแต่เราต้องเริ่มที่ตนเองนั้นคือ “กระบวนการขับเคลื่อนภาคประชาชน” เครือข่ายภาคประชาชนในท้องถิ่นนี้สำคัญที่สุด เพราะคนท้องถิ่นยอมรู้ดีกว่าคนภายนอกที่เป็นใครก็ไม่รู้มากำหนดการพัฒนาท้องถิ่นของเรา

            ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายหวงและห่วงอำนาจก็คือถ้ามีการกระจายอำนาจแล้ว ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะอยู่ตรงส่วนไหน ซึ่งท้องถิ่นสามารถคิดรูปแบบการกระจายอำนาจโดยคำนึงถึงระบบการบริหารราชการที่สอดคล้องกับท้องถิ่นและไม่เหมือนใคร เช่น ให้การบริหารส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นส่วนขยายของส่วนกลางดูแลท้องถิ่น การที่จะกระจายอำนาจไปสู่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยที่ลดอำนาจส่วนภูมิภาคลงไปและให้มีการประสานงานกันระหว่างภูมิภาคกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ใช่ให้ท้องถิ่นเป็นผู้รับนโยบายจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว

กระบวนการขับเคลื่อนภาคประชาชนต้องหันหน้ามาปรึกษาหารือ กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์จังหวัดจัดการตนเอง เพื่อเป็นทางออกจากวิกฤติปัญหาของประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนทุกภาคส่วน ได้วิเคราะห์ปัญหา และจัดทำข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศไทย รวมถึงการพัฒนารูปแบบการปกครองที่จังหวัดสามารถบริหารจัดการตนเองได้ตามหลักธรรมมาภิบาล เป็นการปกครองที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาสังคมในจังหวัดทุกภาคส่วน รวมถึงสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดในทุกด้านได้อย่างสมดุลระหว่างอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่น กับโลกาภิวัตน์ จนเป็นเมืองที่น่าอยู่ ผู้คนมีความสุข

เมื่อมีการปฏิรูปการกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลี่ยมล้ำในสังคม ท้ายที่สุดท้องถิ่นจะพบทางออก คือ “การลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน โดยเสนอแนวทางให้จังหวัดจัดการตนเอง”

สุจารี  ไชยบุญ   องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: