homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ภูเก็ตจัดการตนเอง...ทางที่ (ควร) เลือก

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16-31  ตุลาคม 2554

จังหวัดมีรูปแบบการปกครองที่สามารถบริหารจัดการตนเองได้ตามหลักธรรมมาภิบาล เป็นการปกครองที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาสังคมในจังหวัดทุกภาคส่วน รวมถึงสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดในทุกด้านได้อย่างสมดุลกับอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่น และโลกาภิวัตน์ จนเป็นเมืองที่น่าอยู่  ผู้คนมีความสุข

            นั่นเป็นเป้าหมายของงานสัมมนาการกระจายอำนาจเพื่อสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนท้องถิ่นด้านฝั่งทะเลอันดามัน (พังงา ภูเก็ตและกระบี่) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา จัดโดยสภาพัฒนาการเมืองร่วมกับองค์การความร่วมมือเพื่อกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน ในงานสัมมนานี้ได้เชิญและชวนชาวภูเก็ตทุกภาคส่วนเข้ามาพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น

จากวิกฤตปัญหาสังคมไทยรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาทางสังคม ปัญหาระบบการศึกษา ปัญหาทางการเมือง เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางมากขึ้น การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของภาคประชาชนที่ต่อต้านอำนาจรัฐเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติงาน การพัฒนาที่ประชาชนในท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วม สร้างความขัดแย้ง ทำลายอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ทำให้ภาคประชาชนรวมกลุ่มกันเพื่อต่อสู้เรียกร้องกับรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักคือ การรวมศูนย์อำนาจ ท้องถิ่นไม่สามารถกำหนดทิศทางการบริหารจัดการที่สอดคล้องเหมาะสมกับตนเองได้ รัฐไทยยังรวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง อำนาจการตัดสินใจ และบริหารงบประมาณ การกำหนดนโยบาย หรือโครงการใดๆ ท้องถิ่นหรือภาคประชาชนไม่ได้ร่วมตัดสินใจในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง การรวมศูนย์อำนาจทำให้เกิดความขัดแย้ง และการแย่งชิงอำนาจ ดังจะเห็นได้จากภาพของความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างกันมากขึ้น เกิดการแย่งชิงทรัพยากรดินน้ำป่าจากภาคเกษตรไปให้กับภาคอุตสาหกรรม ประชาชนในชนบทถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ

แนวทางแก้ไขปัญหา กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจังหวัดจัดการตนเอง ต้องสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองโดยเชื่อมโยงอยู่บนฐานวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น ยกระดับ และหลอมการวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และทรัพยากร ผสมผสานองค์ความรู้เชื่อมโยงและพัฒนากลไกร่วมของจังหวัดให้สามารถจัดการตนเองได้

ก่อนเริ่มการสัมมนาอย่างเป็นทางการมีปาฐกถาเรื่องการกระจายอำนาจเพื่อสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนท้องถิ่น โดย ศ.ดร.สุจิต  บุญบงการ  ประธานสภาพัฒนาการเมือง

ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้นเราต้องรู้ต้นสายปลายเหตุของการกระจายอำนาจไม่ได้คือ “ความคงอยู่ของระบบอุปถัมภ์และการคอรัปชั่นยังคงมีอยู่ในระดับสูงเพราะว่าฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมืองระดับชาติทั้งนักการเมือง ข้าราชการเกาะกุมอำนาจไว้ แล้วใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่คุมคนระดับล่างกลายเป็นคนที่อยู่ภายใต้อาณัติ โดยการให้ความช่วยเหลือเห็นว่าเหมาะสม ถูกต้องอาจจะตรงหรือไม่ตรงต่อผลประโยชน์และความต้องการของคนระดับล่างก็ตาม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคการเมืองทุกพรรคแข่งกันเสนอระบบอุปถัมภ์ให้กับชาวบ้าน”

ระบบอุปถัมภ์ส่งผลอย่างไร ทำไม่จึงกระจายอำนาจไม่ได้โปรดติดตามฉบับหน้า

สุจารี  ไชยบุญ    องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: