homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

แม่ปูม้าไข่ (นอกกระดอง)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16 – 30 พฤศจิกายน 2554

            “ปูม้า” สัตว์ทะเลที่นำมาปรุงเป็นอาหารทะเลรสชาติเลิศ ยิ่งสดๆ ยิ่งหวานอร่อย
            ปูม้าตัวเป็นๆ สีฟ้าสวยงาม เมื่อปรุงสุขแล้วเป็นสีส้มสวยน่ากิน วันนี้ไม่ได้จะชวนไปกินปูม้าแต่อย่างใด แต่จะชวนคุยถึงปูม้าตัวเป็นๆ ต่างหาก

            เมื่อสัปดาห์ที่แล้วฉันเดินทางลงพื้น จ.พังงาเพื่อเก็บข้อมูลได้พูดคุยกับกลุ่มนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหลายแห่ง หลายชุมชนให้ความสนใจและเริ่มทำกิจกรรมนี้บ้างแล้ว นอกเหนือไปจากการจัดการทะเลและการฟื้นฟูป่าชายเลน ก็คือ “ธนาคารปูไข่นอกกระดอง”

            นายด้าหนี  ห่วงผล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านใต้ ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา เล่าให้ฟังว่า “ทางกลุ่มของเราคิดเรื่องธนาคารปูไข้นอกกระดองมานานแล้ว ส่วนใหญ่ใครได้ปูไข่นอกกระดองก็ปล่อยลงทะเลไปเลย ไม่ได้มาร่วมกลุ่มเอาปูมาใส่ในกระชัง”

            นายอ้าหมีด คำนึงการ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งบ้านท่าสนุกและผู้ใหญ่บ้านท่าสนุก ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา เล่าว่า “พวกเราคิดทำธนาคารปูไข่นอกกระดองพอดีกับช่วงที่ธนาคารออมสินมีแนวคิดเรื่องนี้จึงให้งบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งในการทำกระชังสำหรับใส่ปูไข่นอกกระดอง

            ปูที่สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ต้องการคือ ปูม้าตัวเมีย ถ้าเป็นปูดำอาจจะต้องมัดแขน-ขาก่อนปล่อยลงกระชัง ไม่เช่นนั้นปูดำที่มีก้ามแข็งแรงกว่าอาจจะทำร้ายปูม้าได้ เมื่อถึงฤดูกาลวางไข่ ปูม้าตัวเมียจะมีไข่ติดอยู่บริเวณระยางค์ซึ่งเคยเป็นขาว่ายน้ำในระยะวัยอ่อน โดยในระยะแรกไข่จะอยู่ภายในกระดองต่อมากระดองทางหน้าท้องเปิดออกมาทำให้สามารถเห็นไข่ชัดเจน จึงมักเรียกปูม้าในระยะนี้ว่าปูม้าที่มีไข่นอกกระดอง

            ไข่นอกกระดองนี้ในขณะที่เจริญแบ่งเซลล์อยู่ภายในเปลือกไข่ สีของไข่จะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเหลืองอมส้มเป็นสีเหลืองปนเทา สีเทาและสีเทาอมดำ ปูม้าที่มีไข่สีเทาอมดำนั้นจะวางไข่ภายใน 1-2 วัน (ข้อมูลเรื่องการเพาะเลี้ยงปูม้า เรียบเรียงโดยสุวดี บรรดาศักดิ์) แม่ปูม้าที่มีไข่นอกกระดอง 1 ตัวจะมีไข่ 2 แสน ถึง 1 ล้านฟอง และลูกปูม้าวัยอ่อนอาจจะรอดไม่ต่ำกว่าพันตัว

            นายสุโบ๊ วาหะรักษ์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านท่าไร่ ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา บอกว่า “ถ้าชาวประมงทุกคนปล่อยปูไข่นอกกระดองทุกตัวลงทะเล ก็เท่ากับเป็นการปล่อยพันธุ์ปูไปด้วย ทะเลจะมีปูเพิ่มขึ้น”

            หากติดตามข่าวคราวการอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลจะพบว่ามีหลายชุมชนที่ทำกิจกรรมธนาคารปูม้า ทุกๆ ชุมชนต่างช่วยกันฟื้นฟูพันธุ์สัตว์น้ำ อนาคตทะเลไทยสมบูรณ์อย่างแน่นอน เมืองท่องเที่ยวทางทะเลที่ขายหาดทรายสวย แสงแดดร้อนแรง และอาหารทะเลสดอร่อยย่อมมีความมั่นคงด้วยแน่

            แต่ถ้ายังปล่อยมีเครื่องมือที่ทำลายล้างทรัพยากรวัยอ่อน ใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างเช่น อวนลากอย่างเช่นปัจจุบัน ต่อให้ชุมชนทั้งประเทศช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรก็ไม่มีทางนำมาซึ่งความมั่นคงทางด้านอาหารแน่นอน

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: