homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

จากคุ้งลมทวนถึงควนบ้านย่าหมี (จบ)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16 – 29 กุมภาพันธ์ 2555

คืนหนึ่งขณะที่ฟังการเสวนาของพี่น้องบ้านลมทวน จ.สมุทรสงคราม บอกเล่าปัญหาเรื่องลำประโดง ภาพของบ้านย่าหมีที่กำลังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ค่อยๆ กระจ่างชัดในความคิด

...ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ  การขายที่ดินเปลี่ยนมือไปเป็นของคนต่างถิ่นต่างชาติ  ผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติฟ้องร้องนักอนุรักษ์ตกเป็นผู้ตกหา  ปัญหาเชิงนโยบายตั้งแต่การท่องเที่ยวกระแสหลักเน้นการเสพเพื่อให้เกิดสุขแต่สร้างทุกข์ให้กับคนท้องถิ่น

บ้านย่าหมี อ.เกาะยาว จ.พังงา เกาะกลางอ่าวพังงาเคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว 2 ครั้งโดยครั้งแรกได้รับเมื่อปี 2545 และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นรางวัลสิปปนนท์ เกตุทัต 5 ปี มอบให้กับชุมชนที่ดูแลป่าติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี

เรื่องราวเริ่มต้นที่กลางปี 2549 มีบริษัทเอกชนจะสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า ในอ่าวคลองสน บ้านย่าหมี ซึ่งโครงการนี้เป็นของบริษัทร่วมทุนต่างชาติ เพื่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าและทำพอนทูนจอดเรือ ไม่ต่ำกว่า 85 ลำ พร้อมทั้งรีสอร์ทหรูและบ้านพักตากอากาศ

คงจะไม่มีปัญหาใดหากไม่ได้สร้างท่าเทียบเรือมารีน่าในอ่าวคลองสน อ่าวนี้เป็นอ่าวที่มีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ใน จ.พังงา ทราบกันดีว่าที่ไหนมีหญ้าทะเลที่นั่นจะมี “พะยูน”  รวมไปถึงเต่าทะเลบางชนิด อีกทั้งยังเป็นระบบนิเวศชายฝั่งที่สำคัญส่วนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลและที่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่แล้ว ยังมีปะการังน้ำตื้น ผลจากการคัดค้านอธิบดีกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี แจ้งให้สำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาพังงา เพิกถอนใบอนุญาต เมื่อวันที่ 23 ก.พ.50

ต่อมากลางปี 2550 ชาวบ้านสังเกตเห็นบนภูเขามีการใช้รถแบ๊คโฮไถเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าสมบูรณ์ และถางป่าทำให้กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมและกำลังรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ กลางเดือนธันวาคม 2550 ชาวบ้านย่าหมีกว่า 30 คน ได้รวมตัวกันเข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำของชุมชน และต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ชาวบ้านย่าหมี 17 คน ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจภูธรเกาะยาว จ.พังงา ฟ้องในข้อหา ร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการใดๆ  อันเป็นการรบกวนการครอบครอง  อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร (ต้นงวงช้าง)

หลังจากช่วยกันสืบหาความจริง พบว่ามีบริษัทร่วมทุนต่างชาติกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้าน ทั้งออกเอกสารสิทธิทับที่ดินของชาวบ้าน และออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบครอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาดที่อยู่ในเขตบ้านย่าหมีด้วย

นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาของวงการสิ่งแวดล้อมที่กลุ่มอนุรักษ์บ้านย่าหมีที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวถึง 2 ครั้ง แต่โดนนายทุนที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติฯ ฟ้อง!  กระบวนการแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนนั้นไม่สามารถสู้รบตบมือกับนโยบายกระแสหลักที่โหมกระหน่ำเข้ามาในชุมชนได้... นโยบายก้าวไปไกลถึงการท่องเที่ยวระดับโลกแล้ว ในขณะที่ชาวคุ้งลมทวนยังต้องอธิบายกับสาธารณชนเรื่องลำประโดง ลำน้ำสายเล็กๆ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของวิถีชีวิตชาวคุ้งลมทวน...นักอนุรักษ์บ้านย่าหมีต้องประกาศเจตนารมณ์ซ้ำๆ ถึงการเลือกมีวิถีชีวิตคนรักษ์ป่าและดูแลทะเล

...นี่เป็นปรากฏการณ์การละเมิดสิทธิชุมชนต่างที่ต่างเวลาต่างวาระ  ก่อนจะจบการเสวนาในคืนนั้นทำให้ฉันตระหนักดีว่าท้ายที่สุดไม่ว่ากระแสโลกจะเปลี่ยนไปเช่นไร คนที่ปกป้องทรัพยากรของชุมชนคงหนีไม่พ้นคนท้องถิ่นนั่นเอง

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: