เยาวชน “แล เล บ้าน เรา”
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1 – 15 กันยายน 2554
คำกล่าวที่ว่า “เยาวชนคืออนาคตของชาติ” เยาวชนก็คือ อนาคตของชุมชนและท้องถิ่นด้วย
หลายชุมชนล่มสลายไปเพราะอนาคตของชาติไม่ใส่ใจท้องถิ่นของตนเองและใหลไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ เดินไปติดกับดักสังคมบริโภคนิยม
หลายหน่วยงานพยายามฉุดรั้งให้เยาวชนได้ฉุกคิด ตระหนักและให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นในทุกๆ บริบท ประเด็นที่สำคัญและเป็นประเด็นร่วมระดับโลกเห็นจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเยาชนนักสื่อความหมาย “แลเลบ้านเรา” เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจระบบนิเวศป่าชายเลน ตลอดจนเห็นคุณค่าและประโยชน์ของทรัพยากรป่าชายเลน และสามารถถ่ายทอดสถานการณ์ปัญหาทรัพยากรป่าชายเลนที่เกิดขึ้นโดยการสื่อสารสู่สาธารณะ จัดการอบรมระหว่าง 12-14 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และเป็นความร่วมมือกันระหว่างโครงการฟื้นฟูอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต เป็นโครงการภายใต้องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน(ARR) ร่วมกับโรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
เยาวชนที่เข้าอบรมนักสื่อความหมาย “แลเลบ้านเรา” เป็นกลุ่มเยาวชนสองวัยหมายความว่า เยาวชน ทั้งหมด 39 คน ที่มาจากโรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์ จ.ภูเก็ตและโรงเรียนประทีปธรรมมูลนิธิ จ.กระบี่ มีตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นและปลาย ดูเหมือนมีความต่าง...แต่เป็นความต่างที่กลมกลืน พี่และน้องดูแลและช่วยเหลือกัน มิตรภาพต่างวัย ต่างที่มาก็งอกเงยตามมา
การอบรมแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกให้ความรู้เรื่องความสำคัญของป่าชายเลนและสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชายเลนชุมชนบ้านป่าคลอก ตลอดจนการเสวนาเรื่องชุมชนกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากศูนย์วิจัยป่าชายเลนจังหวัดพังงา สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 23 (ภูเก็ต) และองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
ในส่วนที่สองเป็นส่วนที่สำคัญมาก เยาวชนจะต้องนำสิ่งที่ได้รู้มาประยุกต์ใช้ในเรื่องการสื่อสารเรื่องราวออกสู่สาธารณะโดยใช้หุ่นมือและอุปกรณ์ประกอบที่มีให้เกิดประโยชน์
ละครหุ่นมือที่เด็กๆ สองวัยเหล่านี้ได้ถ่ายทอดออกมา 5 เรื่อง ทุกๆ เรื่องล้วนเป็นสถานการณ์การทำลายระบบนิเวศป่าชายเลน ไม่ว่าจะเป็น การให้สัมปทานป่าชายเลนจนทำให้ป่าชายเลนลดลง โครงการสร้างท่าเทียบเรือมารีนาในแหล่งทรัพยากรหญ้าทะเล
แม้ว่าละครหุ่นมือเป็นสื่อที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่สำหรับเด็กๆ ที่นี่ในวันนี้ละครหุ่นมือเป็นของเล่นแปลกตา เป็นประสบการณ์ใหม่ นับจากนี้ความรู้ความเข้าใจและความตระหนักต่อเรื่อง ทรัพยากรในท้องถิ่นกับความบันเทิงจะเดินไปด้วยกัน...เดินไป “แล เล บ้าน เรา”
สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |