homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ภูเขาบ้านเธอ ทะเลบ้านฉัน (จบ)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1 – 15 มกราคม 2555

เช้าวันรุ่งขึ้น ฉันและคุณเจมส์เดินทางไปบ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ด้วยเรือโดยสาร ท้องฟ้าอากาศแจ่มใส ฟ้าเป็นสีฟ้า แต่ลมและคลื่นในทะเลไม่เป็นใจ ลมค่อนข้างแรงกับคลื่นลูกใหญ่สาดซัดกระทบหัวเรือแล้วใจหาย วิ่งหาเสื้อชูชีพแทบไม่ทัน ฉันหันไปสบตาหนุ่มที่มาจากภูเขา ซึ่งแน่นอนว่าต้องการเสื้อชูชีพมากกว่าสิ่งอื่นใด

เราโล่งใจหลังจากที่เท้าก้าวแรกของเราสัมผัสกับสะพานท่าเทียบเรือบ้านคลองเหียในเวลาสายๆ ก่อนที่จะบึงรถมอเตอร์ไซค์ข้ามเขาไปที่บ้านย่าหมี ที่นั่นกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านย่าหมีรอเราอยู่ 3-4 คน

ชาวบ้านย่าหมีพาคุณเจมส์ไปถ่ายรูปพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่โดยบริษัทเอกชนบุกรุก โดยใช้รถแบ๊คโฮไถขึ้นไปถึงสันเขา ไม่จำเป็นต้องเดินขึ้นไปสำรวจป่าก็สามารถมองเห็นจากถนนสาธารณะ มองเห็นเห็นร่องสีแดงสลับกับต้นไม้สีเขียว ใครๆ ที่เกาะยาวก็รู้ทั้งนั้น โดยที่ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาบอกว่าพื้นที่บนสันเขานี้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด

แม้ภาพป่าสงวนแห่งชาติฯ ถูกบุกรุกจะไม่สามารถสื่อเรื่องราวถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนย่าหมีได้ แต่ภาพทะเลและชายหาดยามน้ำลงที่อยู่เบื้องล่างนั้นบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนย่าหมีได้เป็นอย่างดี

หาดคลองสนที่ที่อยู่หน้าภูเขาป่าสงวนฯ นี้ เป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการสร้างท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา (ท่าเรือมารีนา) แต่กรมขนส่งทางน้ำได้เพิกถอนใบอนุญาตเสียก่อน

หาดคลองสนเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ ภาพที่ปรากฏตรงหน้าคือ มีชาวบ้านทุกเพศ ทุกวัยเดินเก็บหอยชักตีน คุณเจมส์ไม่รอช้าที่จะเดินตรงไปบันทึกภาพเหล่านั้นก่อนที่แสงสุดท้ายจะลาลับขอบฟ้าไป

มะ (แม่) คนหนึ่งเก็บหอยชักตีนได้ 3 กิโลกรัม ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ราคากิโลกรัมละ 40  บาท  เย็นนั้นมะมีรายได้ 120 บาท นักลงทุนมักจะมองเรื่องการพัฒนาที่ดินให้มีมูลค่ามากกว่าเดินเก็บหอย การปรับพื้นที่เป็นท่าเรือยอร์ซซิดีกว่า สร้างรายได้ สร้างงานให้คนในชุมชน หน่วยงานท้องถิ่นก็ได้ภาษีปีละเป็นหลักล้าน แต่ชาวบ้านจะได้อะไรนอกจากทำงานรับจ้างในท่าจอดเรือยอร์ซ

ถ้าจะบอกว่าฉันมีสิทธิที่จะเลือกการดำรงอยู่ของชีวิต เลือกที่จะมีชีวิตแบบไหนอย่างไรที่มีความสุข...ฉันว่าชาวบ้านย่าหมีก็มีสิทธิเลือกวิถีชีวิตได้ไม่ต่างไปจากฉัน สิทธิของความเป็นมนุษย์ไงล่ะ การศึกษาน้อยไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะถูกละเมิดสิทธิและมองเห็นพวกเขาเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่ง

กับข้าวของมื้อค่ำวันนั้นไม่มากมาย ไม่หรูเลิศ ...มีปลาเค็มทอด ปลาเค็มตากแห้งที่ได้จากการวางอวนกุ้ง น้ำพริกกะปิ กุ้งเคยตัวจ้อยที่ได้จากทะเลหาดคลองสน แกงส้มปลาและปูต้มซึ่งได้จากอวนกุ้งเช่นกัน และหอยชักตีนจากแหล่งหญ้าทะเล หาดคลองสน

ทุกครั้งที่ฉันกินอาหารทะเล ฉันจะสำนึกเสมอว่า อาหารเหล่านี้เลือกมาด้วยการต่อสู้และปกป้องทรัพยากรของชาวบ้านหลายๆ แห่ง

ความสุขของคนกินอาหารทะเลส่วนใหญ่คืออาหารทะเลต้องสด ฉันหันไปมองคนเจมส์ตักเนื้อปูที่แกะโดยจ๊ะดำ (จ๊ะแปละว่าพี่สาว) เจ้าของบ้านเข้าปาก คิดว่าคงกำลังสุขใจ แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังซึมซับเข้าสู่ก้อนเนื้อที่อกข้างซ้ายของคุณเจมส์ก็คือ..มิตรภาพของชาวบ้านย่าหมี

ช่างภาพหนุ่มผู้มาจากดินแดนที่มีภูเขา... “James Robert Fuller” กับทะเลบ้านฉัน...เพราะฉันคือชาวประมงพื้นบ้าน

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: