homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

รู้จักชุมชนบ้านในไร่ : ก่อร่างสร้างเมือง 

ชุมชนบ้านในไร่เป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานกว่า 100 ปีแล้ว  มีชาวบ้านเข้ามาตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2    ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 ต. นาเตย อ.ท้ายเหมือง  จ.พังงา    พื้นที่ของชุมชนมีอาณาเขตบริเวณที่กว้างขวาง  จึงมีการแบ่งออกเป็น 3  หย่อมบ้าน คือชุมชนบ้านบ่อดาล  ชุมชนบ้านในไร่ฝั่งตะวันออกและชุมชนบ้านในไร่ฝั่งตะวันตก  มีชาวบ้านอาศัยอยู่ในชุมชนทั้งสิ้นประมาณ 1,685  คน   ชุมชนบ้านในไร่เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในฝั่งทะเลอันดามัน   แต่เดิมชาวบ้านประกอบอาชีพทำนาและการประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ต่อมายุคขุมเหมืองเฟื่องฟู   มีบริษัทต่างๆเข้ามาสัมปทานบัตรเหมืองแร่ดีบุก  ทำให้ผู้คนเดินทางมาจากที่ต่างๆอพยพเข้ามาทำงานรับจ้างเป็นกรรมกรทำเหมืองแร่ ผู้คนเปลี่ยนจากอาชีพเกษตรกรรม เป็นทำเหมือง  จนกระทั่งประมาณปี  2516-2519  เมื่อการทำเหมืองแร่ซบเซา  ผู้คนจำนวนหนึ่งได้ย้ายพื้นที่ไปหาอาชีพใหม่ พื้นที่ขุมเหมืองถูกทิ้งให้เป็นที่ว่างเปล่า  ชาวบ้านบางส่วนที่ปักหลักอยู่บนดินเดิม พร้อมกับคืนกลับมาประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านตามเดิม  เช่น วางอวนปลา  ตกปลา  อวนปู อวนกุ้ง ลอบหมึก  เป็นต้น และเริ่มมีการเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณขุมเหมืองเป็นอาชีพเสริม 

บ้านในไร่มีสภาพทางภูมิศาสตร์อันมีทรัพยากรชายฝั่งที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง   มีแนวหินราวซึ่งเป็นแนวกันชนด่านแรกป้องกันความแรงของลมฝั่งตะวันตก  มีสันหาดเป็นเนินสูง ด่านที่สองเป็นป่าชายหาดซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตัวเล็ก ๆ ด่านที่สามเป็นลำคลองสายเล็กๆที่ชาวบ้านใช้เป็นทางผ่านก่อนออกสู่ทะเล และด่านสุดท้ายเป็นป่าชายเลนที่ปกคลุมไปทั่วชายฝั่ง จากเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 แนวกันชนเหล่านี้ได้ช่วยป้องกันความเสียหายจากคลื่นยักษ์ที่โถมซัดบ้านเรือนในชุมชนก่อให้เกิดความเสียหายในระดับปานกลาง เพราะมีแนวกันชนซึ่งเป็นป่าชายหาดปกป้องอยู่ นอกจากนี้พื้นที่ป่าชายหาดยังเป็นที่อาศัยวางไข่และฟักไข่ของสัตว์อนุรักษ์และกำลังใกล้สูญพันธุ์ คือ เต่าทะเล ซึ่งพบว่ามีถึง 3 ชนิดที่ขึ้นวางไข่ ได้แก่เต่ากระ เต่ามะเฟือง และเต่าตนุ โดยขึ้นมาอาศัยวางไข่บริเวณชายหาดบ้านในไร่เป็นประจำทุกปี  

ยุคเหมืองแร่เฟื่องฟู

“ดีบุก” เป็นแร่เศรษฐกิจที่สำคัญ และมีความเป็นมาอันยาวนานสามารถนับย้อนไปจนถึงปี พ.ศ.2061 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการนำเอาเครื่องจักรกลมาช่วยในการทำเหมือง อีกทั้งยังเริ่มการขุดแร่ในทะเลนับซึ่งเป็นการเปิดศักราชการทำเหมืองแร่ดีบุกสมัยใหม่ของไทย ผลผลิตแร่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ดีบุกกลายเป็นหนึ่งในสี่ของสินค้าส่งออกหลักของไทย

การทำเหมืองแร่ที่บ้านในไร่นั้นเริ่มเมื่อประมาณพ.ศ. 2500 ถึง 2519 นายเหมืองรายแรกที่เข้ามาซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ดีบุกเป็นของชาวไทยเชื้อสายจีนคือนายโอภาส  อุดมทรัพย์  และนายสกล  หรือจิ้นฮวด  อำนวยผล  ต่อมานางสดศรี  อุดมทรัพย์ ได้ถือสิทธิครอบครองและรับช่วงประกอบกิจการเหมืองแร่ จนกระทั่งสิ้นอายุประทานบัตรในปีพ.ศ. 2519 

การขุดแร่ในสมัยนั้นใช้แรงงานคนเป็นสำคัญทั้งการขุดแร่  ร่อนแร่ จึงจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานกรรมกรจำนวนมาก   ทำให้พื้นที่บ้านในไร่สมัยนั้น  มีผู้คนเดินทางเข้ามารับจ้างทำงานกับเหมืองแร่เป็นจำนวนมาก  และมีการก่อสร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยเพิ่มจากเดิมมากขึ้น

แต่เนื่องจากแร่เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป กิจการรายได้จากการทำเหมืองและอุตสาหกรรมถลุงแร่เริ่มซบเซา  ชาวบ้านบางส่วนเริ่มโยกย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่อื่นๆ        ชาวบ้านบางส่วนที่ยังคงลงรากปักฐานอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านในไร่ ยังคงปลูกสร้างกระต๊อบหลังเล็กอยู่ในบริเวณที่เป็นขุมเหมืองเก่า  พร้อมกับใช้ประโยชน์จากบริเวณขุมเหมืองซึ่งได้กลายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ โดยชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนอาชีพมาเป็นการเลี้ยงปลาในกระชัง และใช้เป็นเส้นทางสัญจรเข้าออกทะเล เพื่อทำการประมงพื้นบ้าน  และใช้เป็นพื้นที่สำหรับจอดเรืออีกด้วย นอกจากนี้ชาวบ้านก็ยังคงอาศัยพื้นที่ในการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ดินเดิมเรื่อยมา 

ผืนดินถิ่นเกิด

เมื่อยุคของการทำเหมืองแร่สิ้นสุดลง  ที่ดินในชุมชนบ้านในไร่ ได้มีการถือครอง จำหน่าย จ่ายโอนจากนายเหมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่า  ปัญหาเรื่องที่ดินเริ่มส่อเค้าขึ้นหลังจากการทำเหมืองแร่ซบเซาลง นักลงทุนได้เริ่มปรับบทบาทหันมาลงทุนเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้น  ชายฝั่งทะเลมีหาดทรายละเอียดสีขาว และน้ำทะเลสีครามสะอาด พร้อมเกาะแก่งบริวารจำนวนมาก ใต้ทะเลอุดมไปด้วยปะการัง กัลปังหา พืชพันธ์ และดอกไม้น้ำ รวมทั้งพันธุ์ปลาสวยงาม หลากสีสันล้วนธรรมชาติให้มา  กลับพลิกผันกลายเป็นขุมทรัพย์มหาศาลทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเป็นที่ต้องตาต้องใจ นักลงทุนด้วยธุรกิจใหม่ที่ทั่วโลกต่างต้องการนั่นคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2528-2529 ทางรัฐบาลเองได้ผลักดันและส่งเสริมให้จัดทำแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ ภูเก็ตและพังงา    จากนั้นจึงได้มีการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการท่องเที่ยวอย่างคึกคัก   และโครงการพัฒนาของภาครัฐนี่เองที่ทำให้ที่ดินในพื้นที่ชายฝั่งเป็นที่ต้องการของนักลงทุนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การบุกรุกที่ดินสาธารณะในที่สุด

หลังจากการสัมปทางเหมืองแร่สิ้นสุดลง บริษัทเหมืองแร่โอภาส จำกัด กลับไม่คืนที่ดินให้กับรัฐแต่กลับขายต่อที่ดิน   ให้แก่บริษัท สำเภาเพชร จำกัด  ต่อมาทางบริษัทสำเภาเพชร ได้นำที่ดินไปจำนองเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัท  ธนายง  จำกัด  จนกระทั่งพ.ศ. 2541 ฟองสบู่แตกเศรษฐกิจตกต่ำทั่วประเทศ บริษัทธนายง เลิกกิจการ เกิดหนี้เน่า จึงนำที่ดินทั้งหมด 750 ไร่  จดทะเบียบจำนองกับบริษัท  เงินทุนหลักทรัพย์  ศรีธนา  จำกัด(มหาชน)    จากนั้นทางบริษัท  เงินทุนหลักทรัพย์  ศรีธนา  จำกัด(มหาชน)     ได้โอนที่ดินให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน  เพื่อเป็นการชำระหนี้  จนกระทั่งเมื่อวันที่     31 กรกฎาคม 2545  นายสมเกียรติ  ลีธีระ  เศรษฐีโรงงานสับปะรด จากจ.ประจวบคีรีขันธ์ ชนะการประมูลจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน ได้ที่ดินทั้งหมดไว้ในครอบครองในราคา 112,000,000 บาท (หนึ่งร้อยสิบสองบาทถ้วน) โดยที่นายสมเกียรติกลับไม่รู้ว่าที่ดินที่ซื้อมานั้นมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินบางส่วนมาก่อนแล้ว   ขณะนั้นนายสมเกียรติหวังว่าจะทำรีสอร์ท ที่พัก เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว  โดยได้ใช้รถไถปรับพื้นที่ไปบ้างแล้ว จนเกิดเหตุภัยพิบัติสึนามิเมื่อเดือนธันวาคม 2547  ที่ผ่านมา จึงต้องระงับโครงการชั่วคราว

พื้นที่ทั้งหมดที่นายสมเกียรติประมูลได้ไปนั้นมีชาวบ้านอาศัยอยู่ทั้งหมดประมาณ 1,685 คน 331 ครอบครัว 309 หลังคาเรือน ที่ประกอบไปด้วยย 3 ชุมชนย่อยได้แก่ ชุมชนบ้านบ่อดาล (อยู่ติดถนนเพชรเกษมช่วงท้ายเหมือง-ภูเก็ต) ชุมชนบ้านในไร่ตะวันออก และชุมชนบ้านในไร่ตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิมากที่สุด  มีชาวบ้านส่วนที่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตนเองอยู่ด้วยแต่เป็นส่วนน้อย  ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์เริ่มต้นที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างนายทุนและชาวบ้านในชุมชนมาโดยตลอด

เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ.2547 นายสมเกียรติ  ลีธีระ ได้นำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินเข้ามารังวัดที่ดินบริเวณบ้านในไร่ตะวันตกเพื่อออกโฉนดที่ดิน แต่ชาวบ้านได้รวมตัวกันคัดค้านการรังวัด  ดังกล่าว และเจ้าพนักงานที่ดินได้รับคำคัดค้านไว้พิจารณาแล้ว โดยเจ้าพนักงานที่ดินได้งดการรังวัดไว้เพื่อให้เจ้าของที่ดินที่อ้างสิทธิตกลงกับชาวบ้าน จึงยังไม่มีการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดแต่อย่างใด และมิได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ใดๆทั้งสิ้น

จากประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานของชุมชนบ้านในไร่ที่มีมานานกว่า 100 ปี หลักฐานของชุมชนที่เป็นข้อยืนยันที่สำคัญที่บอกถึงการลงหลักปักฐานของชาวบ้านบ้านในไร่มาเป็นระยะเวลาอันยาวนานแล้วนั้น สามารถดูได้จากกุโบร์  (สุสานของชาวมุสลิม)  และสุเหร่า ศาสนสถานที่เป็นข้อยืนยันการตั้งของชุมชนของบรรพบุรุษได้เป็นอย่างดี

ภัยพิบัติหลังสึนามิ

หลัง"สึนามิ" ชุมชนบ้านในไร่  เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบ สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน บ้านเรือนเสียหาย เรือพัง อุปกรณ์การทำประมงเสียหาย เช่น กระชัง ลอบ อวน ชาวบ้านขาดเครื่องมือทำมาหากิน   ชุมชนบ้านในไร่ ได้รับความเสียหายด้านที่อยู่อาศัยเกือบทั้งหมด มีผู้เสียชีวิต1 ศพ   ที่สำคัญบริเวณชายฝั่งทะเล มีต้นไม้และแนวชายหาดขวางกั้นอยู่ ความแรงของคลื่นจึงลดน้อยลง  

หลังจากคลื่นสึนามิถล่มพัดพาเอาชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านเสียหายไปหมดแล้ว การฟื้นฟูช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยพิบัติก็ได้มีหน่วยงานต่างเร่งเข้ามาให้การช่วยเหลือทันที  การฟื้นฟูชุมชนโดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือเรื่องการสร้างบ้านพักถาวรในพื้นที่ดินเดิมของชาวบ้านนั้นจึงเป็นการฟื้นฟูเรื่องแรกๆ  

แต่ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างก็กลับพบว่ามีปัญหาประเด็นเรื่องที่ดินในการสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัย เพราะองค์กรที่เข้ามาดำเนินการให้ความช่วยเหลือเรื่องบ้านนั้น จะเลือกสร้างให้เฉพาะบ้านที่มีเอกสารสิทธิ์หรือได้รับการรับรองจากผู้ใหญ่บ้าน จึงจะดำเนินการสร้างบ้านให้    

จากนั้นได้มีการประชุมของหลายหน่วยงาน ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อร่วมหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยชุมชนบ้านในไร่ เป็นชุมชนแรกที่เรียกร้องกลับมาอยู่ที่เดิม   หลังจากประชุมหาแนวทางร่วมกันแล้ว  ชาวบ้านในไร่  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายองค์กรจึงร่วมกันจัดเก็บข้อมูลชุมชน และกลุ่มชาวบ้านที่ต้องการกลับมาอยู่ที่เดิมแต่พื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ  หลังจากได้สำรวจข้อมูลแล้ว พบว่ากลุ่มเป้าหมายจำนวน  45 ราย ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาให้ความช่วยเหลือเรื่องการสร้างบ้านให้แต่อย่างใด

ปัญหาเรื่องที่ดินประทุขึ้นอีกครั้ง  เมื่อไม่สามารถเจรจากันได้ชาวบ้านเข้ายึดพื้นที่เดิม พร้อมกับได้สร้างบ้านเรือนในที่ดินที่ครอบครองไว้เดิม   ในช่วงนั้นได้ก่อสร้างบ้านถาวรแล้ว จำนวน 29 หลัง แบ่งเป็นบริเวณขุมเหมืองเก่า 21 หลัง และในที่ดินเดิมหน้าทะเล 8 หลัง  ต่อมานายสมเกียรติก็ออกมาแสดงตัวว่าเป็นผู้ครอบครองผืนดินดังกล่าว  เมื่อวันที่ 28  มีนาคม  2548  ได้มีหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอท้ายเหมือง มาถึงชาวบ้านจำนวน  20  คน  ว่าได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันบุกรุกที่ดินของคนอื่น    จากนั้นวันที่ 9 เมษายน  2548  มีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้เข้ามารังวัดที่ดิน โดยมิได้บอกกล่าวแก่ชาวบ้าน  ชาวบ้านจึงคัดค้านการรังวัด  จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ผลที่ตามมาคือชาวบ้านถูกคุกคามและข่มขู่ตลอดเวลา

ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ยื่นหนังสือขอรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินมาตลอด เคยไปยื่นเรื่องกับสำนักงานที่ดินอำเภอท้ายเหมือง  รอคอยคำตอบนานกว่า 1 ปี   จึงได้ยื่นหนังสืออีกครั้งกับกรมที่ดินจังหวัดพังงา แต่เรื่องก็เงียบไปอีกเหมือนเคย ตั้งแต่วันแรกที่ชาวบ้านได้เรียนร้องสิทธิถึงวันนี้ 4 ปีกว่าแล้ว แต่ไม่มีวี่แววความคืบหน้า  จนกระทั่งเกิดสึนามิก็มีนายทุนเข้ามาแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครเข้ามาอ้างสิทธิ์ในที่ดินนี้เลย ตอนนั้นมีองค์กรต่างๆเข้ามาช่วยเหลือสร้างบ้านให้ แต่ทั้งหมดก็ต้องถอนตัวออกไปเนื่องจากชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน   

ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า การขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3 ก.) จำนวน 18 แปลง เป็นการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นบริเวณขุมเหมืองเก่า  ซึ่งตามพระราชบัญญัติเหมืองแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 73 เมื่อผู้ขอประทานบัตรมิได้มีหลักฐานแสดงว่าตนเป็นเจ้าของสิทธิในที่ดินดังกล่าว ย่อมแสดงว่าที่ดินดังกล่าวนับเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อประทานบัตรสิ้นอายุแล้ว  บริเวณรอบขุมเหมืองเก่าที่มีน้ำขังอยู่นั้นราษฎรได้เข้าไปทำประโยชน์โดยการเลี้ยงปลาในกระชัง มาเป็นเวลานานหลายสิบปีนับตั้งแต่เลิกกิจการทำเหมืองแร่ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิมาก่อน  ดังนั้นการขอออก นส.3 ก. ในพื้นที่ขุมเหมืองเก่า    ผู้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์มิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวทั้งก่อน และหลังการขอเอกสารสิทธิที่ได้มาย่อมเป็นการไม่ชอบทั้งสิ้น               

นอกจากการออกเอกสารสิทธิทับซ้อนที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์และอยู่อาศัยไปจนถึงการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ขุมเหมืองเก่าแล้ว พื้นที่ 7 ใน 23 แปลง ที่เพิ่งถูกคัดค้านการออกโฉนดที่ดินเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา  

ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายสมเกียรติ ลีธีระ พร้อมด้วยนายเชษฐ์ ทรายทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7   ได้นำรถแบ๊กโฮเข้าไปไถพื้นที่ป่าชายเลนที่ว่าถูกจัดเป็นพื้นที่ปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ได้ร่วมกันกับชาวบ้านปลูกป่าเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน เมื่อ 12 สิงหาคม 2548
พื้นที่ป่าชายเลนที่ว่ามีเนื้อที่ 59.2 ไร่ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยเข้าไปตรวจสอบ ก่อนจะตามมาด้วยสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 22 บ้านกะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ได้เข้ามาตรวจสอบและรังวัดร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดิน อ.ท้ายเหมือง  แต่ความคืบหน้าที่ไม่เคยเกิดขึ้นจึงทำให้ชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาคัดค้านการบุกรุกต้องวิ่งไปขอให้กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งเข้ามาตรวจสอบอย่างเร่งด่วน พร้อมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกครั้ง เนื่องจากกำลังมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าว           

ผลการตรวจสอบที่มีมติให้กันพื้นที่ป่าชายเลน 59.2 ไร่ออกพร้อมทั้งให้เพิกถอนการออกโฉนดที่เดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส. 3 ก.) ทั้ง 7 ฉบับ จากหลายหน่วยงาน ไม่ได้ทำให้เรื่องราวทุกอย่างจบลง  เพราะการบุกรุกพื้นที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 22 ฝ่ายป้องกันและปราบปรามจะมีการดินแนวกั้นแนวเขต เช่นเดียวกับการข่มขู่คุกคามประชาชนในพื้นที่ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านก็ยังคงมีต่อไป           

เมื่อถูกรุกหนักเข้าหน่วยงานราชการที่มีส่วนรับผิดชอบต่างโยนความผิดให้อีกส่วน เพราะขณะที่เจ้าหน้าที่ที่ดิน อ.ท้ายเหมือง ชี้แจงว่า เอกสารสิทธิได้มาอย่างถูกต้อง เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน (ลำแก่น) ที่เข้าร่วมตรวจสอบ  วันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา บอกได้แต่เพียงว่า ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่จะกระทำได้   เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2550 ชาวบ้านได้เดินทางไปพบ นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาในขณะนั้น  แต่ผู้ว่าฯ กลับบอกว่าไม่เคยรับทราบเรื่องนี้มาก่อนทั้ง ๆ ที่มีการยื่นหนังสือเพื่อให้แก้ไขปัญหามาหลายครั้ง  ส่วนเจ้าพนักงานที่ดินคราวนี้กลับบอกว่า ไม่ใช่ความรับผิดชอบของสำนักงานที่ดิน แต่เป็นความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

จนสุดท้ายส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ได้ทำรายงานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อยืนยันการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส. 3 ก. ทั้ง 7 ฉบับ โดยระบุว่าได้แจ้งให้ที่ดินจังหวัดพังงา สาขาท้ายเหมืองพิจารณาดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิตามอำนาจหน้าที่ต่อไป  แม้ว่าจะมีคำสั่งชัดเจนออกมาเช่นนี้ ทว่ายังไม่มีใครยืนยันได้ว่าพื้นที่ป่าชายเลน 59.2 ไร่ จะถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิและได้รับการคุ้มครองในฐานะทรัพยากรของชาติและชุมชน

         
 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: