homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “ขยะ”  (1)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1 – 15 มีนาคม 2555

หลังปีใหม่เป็นต้นมาฉันตั้งใจและสัญญากับตัวเองไว้ว่าจะต้องเก็บกวาดบ้านและสำนักงานให้สะอาดเอี่ยม เอาแค่เคลียร์กระดาษที่ยังต้องใช้และไม่ใช้แล้วก็จะทำให้โล่งขึ้นเยอะ

ฉันใช้เวลาช่วงกลางคืนในการจัดการขยะที่อยู่ในบ้านหลังเล็กๆ พบสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “ขยะ” เมื่อรื้อๆ ค้นๆ แล้วพบว่ามีเศษกระดาษชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงชิ้นใหญ่  กระดาษที่ใช้แล้วทั้งสองหน้าและใช้แล้วหน้าเดียว  หนังสือพิมพ์เก่า นิตยสารเก่า  พลาสติกสารพัดอย่าง จากนั้นจึงนำไปขาย และที่ทึ่งในตัวเองก็คือ แม้แต่บิลใบเสร็จที่ได้จากการซื้อของฉันก็เก็บไว้ขาย...อย่าลืมว่ากระดาษชิ้นเล็กๆ หลายชิ้นรวมกันจะกลายเป็นขยะถุงใหญ่ได้

แต่ไหนแต่ไรมาฉันจัดการสิ่งที่เรียกว่า “ขยะ” โดยการแยกประเภท เช่น เศษกระดาษแยกไว้ 1 ถุง กระดาษใช้แล้วหน้าเดียวใส่ลังไว้ใช้ได้อีก หนังสือพิมพ์เก่ามัดไว้รอขาย ขวดพลาสติกแยกไว้ต่างหาก...บรรยากาศที่บ้านไม่ต่างไปจากร้านรับซื้อของเก่า

แต่สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “ขยะ” มีมูลค่า รวบรวมขายได้ครั้งละร้อย สองร้อยบาทก็คือเงิน
เมื่อหันไปดูในตะกร้าขยะแทบไม่มีขยะอะไรนอกจากขยะเปียกบางอย่าง ไม่ต้องทิ้งขยะทุกวัน
ถ้าเราไม่แยกขยะที่บ้าน...สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าขยะจะเดินทางไปที่ไหน?

แน่นอนว่าเส้นทางการเดินทางของ “ขยะ” จากบ้านไปสู่ถังขยะริมถนน จากนั้นรถขยะมาเก็บต่อไป (เราต้องจ่ายค่าบริการเก็บขยะด้วย) รถขยะมุ่งหน้าไปเตาเผาขยะที่สะพานหิน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นอีก... ต้องจ่ายอีกเท่าไหร่นั้นไม่ใช่ประเด็น  ทุกวันนี้เตาเผาขยะในภูเก็ตที่มีอยู่ไม่เพียงพอต้องความต้องการเผาขยะ หมายความว่า ขยะล้นเมืองภูเก็ตแล้ว  เรื่องที่อยากให้ทุกคนขบคิดและเท่าทันก็คือ ทำไมเราต้องทิ้งทุกอย่างลงถังขยะ? ในเมื่อทุกอย่างที่อยู่ในมือของเราบางอย่างอาจจะไม่ใช่ขยะ 

ในสังคมปัจจุบันนี้ไม่ใช่การหาพื้นที่ทิ้งหรือฝังกลบขยะแห่งใหม่หรือสร้างโรงงานเผาขยะรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่ควรทำคือการหาวิธีการในการลดปริมาณขยะเป็นอันดับแรก

            ทางด้านนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมพูดเรื่องการเผาขยะในประเด็นหลัก 7 ประเด็น คือ 1. การปล่อยของสารพิษ 2. การกำจัดเถ้า 3.ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น 4. การสูญเปล่าของพลังงาน 5.การต่อต้านจากสาธารณชน 6. ทางเลือกอื่นๆ และสุดท้ายเรื่องความยั่งยืน

            หากจำไม่ผิดในช่วงการก่อสร้างเตาเผาขยะที่สะพานหินเสร็จใหม่ๆ กลุ่มกรีนพีชเดินทางมาพร้อมกับเรือ Rainbow Warrior เรือที่มีชื่อแปลเป็นไทยว่า เรือนักรบสายรุ้ง ซึ่งเดินทางมาแถบเอเชียและประเทศไทย จ.ภูเก็ตเป็นหนึ่งแห่งที่เรือนักรบสายรุ้งจอดเทียบท่า เพื่อรณรงค์ในประเด็นสารพิษไดออกซินที่ปล่อยมาจากเตาเผาขยะ

            ในเวลานั้นหลายๆ ฝ่ายไม่ใคร่สนใจประเด็นการปล่อยสารพิษนัก เพราะเตาเผาขยะที่สร้างมานั้นมูลค่าหลายล้านและเพื่อเผาขยะ ซึ่งแก้ไขปัญหาให้กับคนภูเก็ต เวลาผ่านไปสิบกว่าปี เตาเผาขยะยังทำหน้าที่เผาขยะอยู่ แต่ชุมชนที่อยู่บริเวณนั้นเดือดร้อน กลิ่นขยะเหม็นตลอดเวลา บางเวลาเหม็นน้อย บางเวลาเหม็นมาก ฝูงแมลงวันจำนวนนับไม่ได้ ตอนนี้มีเตาเผาขยะแห่งที่สองแล้ว เพราะปริมาณขยะเกาะภูเก็ตมากเหลือเกิน

            โปรดติดตามฉบับหน้าว่าสารไดออกซินที่ออกมาจากการเผาขยะจะส่งผลอย่างไรกับชาวเกาะภูเก็ตบ้าง มหันตภัยเงียบไม่เคยปราณีใคร

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: