homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

สิ่งที่เล็กๆ ที่เรียกว่า “ขยะ”  (จบ)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16 – 31 มีนาคม 2555

            ทางด้านนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมพูดเรื่องการเผาขยะในประเด็นหลัก 7 ประเด็น คือ 1. การปล่อยของสารพิษ 2. การกำจัดเถ้า 3.ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น 4. การสูญเปล่าของพลังงาน 5.การต่อต้านจากสาธารณชน 6. ทางเลือกอื่นๆ และสุดท้ายเรื่องความยั่งยืน

            การปล่อยของสารพิษจากการเผาขยะนั้นพบว่ามีสารเคมีมากกว่า 3 ชนิดอยู่ในหลอดทดลอง หน้าที่ของเตาเผาขยะคือ เผาทุกอย่างที่สังคมทิ้ง แล้วก็นำพลังงานความร้อนจากการเผาไปผลิตกระแสไฟฟ้า ดูดีมีประโยชน์มาก แต่กระบวนการที่ซับซ้อนเหล่านี้ส่งผลให้เกิดก๊าซหลายอย่างเกิดขึ้น 

            ก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ สารประกอบคลอไรด์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในขยะจะเปลี่ยนสภาพเป็นก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ ซึ่งมีสภาพเป็นกรด และเมื่ออยู่ในสภาวะอุณหภูมิสูงก็จะกัดกร่อนโลหะที่ก๊าซสัมผัส แม้ว่าก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ส่วนใหญ่จะถูกกำจัดโดยใช้เครื่องมือทำความสะอาด ก๊าซโดยผ่านให้เข้าสัมผัสกับสารที่มีคุณสมบัติเป็นด่างก่อนที่ไอร้อนจะถูกปล่อยออกจากปล่องเตาเผา 

            เกิดกรดไนตริกออกไซด์ ในระหว่างที่เกิดการเผาไหม้ไนโตรเจนและออกซิเจนในอากาศจะรวมตัวกันเป็นก๊าซไนตริกออกไซด์ แต่เนื่องจากก๊าซนี้มีสภาวะเป็นกลางจึงไม่สามารถขจัดด้วยวิธีการเดียวกับก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ เช่น  การใช้ปูนขาว  สำหรับก๊าซไนตริกออกไซด์ที่ยังเหลืออยู่จะเปลี่ยนเป็นก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์โดยแสงอาทิตย์ ซึ่งทำให้เกิดหมอกและควันพิษตลอดจนฝนกรด

            และโลหะที่เป็นพิษจะถูกปล่อยออกมา ระหว่างการเผาไหม้  โลหะหลายที่ที่เป็นพิษจะถูกปล่อยออกมา เช่น ตะกั่ว แคดเมียม อาร์เซนิค ปรอท  และโครเมียมซึ่งเกิดจากการเผาขยะพวกพลาสติกและอาจออกมาในรูปของผงฝุ่นหรือก๊าซ  เมื่อหลุดรอดออกจากปล่องเตาเผา  ผงฝุ่นหรือก๊าซเหล่านี้จะไปรวมตัวกันเป็นบริเวณกว้างในสิ่งแวดล้อม ถ้าเข้าไปในปอดของมนุษย์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดอย่างรวดเร็ว วิธีการกำจัดสารพิษประเภทโลหะที่ออกมากับอากาศเสียที่นิยมใช้กันคือ ใช้เครื่องดักจับฝุ่นแบบประจุไฟฟ้าสถิตหรือใช้ถุงกรอง  

            สารพิษที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุดคือปรอท  ในอุณหภูมิของการเผาไหม้  ปรอทจะมีสภาวะเป็นก๊าซ และหลุดรอดจากเครื่องมือควบคุมมลพิษ ผลก็คือการเผาขยะเป็นแหล่งกำเนิดปรอทออกสู่สภาพแวดล้อม

            นี่เป็นข้อมูลเพียง 1 ใน 7 ประเด็น เรื่องการปล่อยของสารพิษ ซึ่งเป็นแค่ประเด็นแรกเท่านั้น ผลกระทบที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับมากเกินที่จะรับมือไหว ทำให้ไม่อยากพูดถึงประเด็นอื่นอีกแล้ว..

            จะเห็นว่าสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศนั้นเรามองไม่เห็น...ไม่มีสี มีกลิ่นบ้าง เราจึงคิดไปเองว่าคงไม่มีอะไร  แต่นั่นเป็นมหันตภัยเงียบที่คืบคลานเข้ามาดูดกลืนชีวิตไปอย่างช้าๆ

            โรงงานเตาเผาขยะภูเก็ตรองรับขยะได้วันละ 250 ตัน แต่ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นถึงวันละ 520 ตัน แม้ว่ามีพื้นที่ฝังกลบทั้งหมด 5 บ่อ แต่ก็ไม่เพียงพอ

            และแม้ว่าเทศบาลนครภูเก็ตจะพยายามแก้ปัญหาขยะกำลังล้นเมือง องค์การบริหารจังหวัดภูเก็ตร่วมกับมูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทยพยายามลดปริมาณขยะที่จะนำเข้าเตาเผาขยะ โดยการร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นลดปริมาณขยะที่จะนำเข้าเตาเผา จากต้นทางและการนำขยะที่เกิดขึ้นในชุมชนทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์

            โครงการทั้งหมดนี้เป็นสิ่งดีน่าสนับสนุนอยากให้ทุกคนร่วมมือกัน...แต่รู้สึกว่าจะคิดช้าไป 10 ปี หากเริ่มคัดแยกขยะและลดปริมาณขยะจากต้นทางตั้งแต่ 10 ปี ก่อนโน้น...เตาเผาขยะคงไม่จำเป็น และเตาเผาขยะแห่งที่สองคงไม่เกิดขึ้นให้เปลืองงบประมาณ

            ประชาชนชาวภูเก็ตยังไม่ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ไม่ได้หมายความว่าพวกเราแข็งแรง แต่นั่นเป็นเพราะพวกเรากำลังจะตายผ่อนส่งต่างหากจากการสูดดมอากาศที่ปนเปื้อนสารพิษติดต่อกันมานานถึง 10 ปี

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: