คนพื้นเมืองภูเก็ตจะอยู่อย่างไร? (2)
ในอดีตการกำหนดนโยบายมาจากส่วนกลาง ซึ่งคนท้องถิ่นไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกำหนดทิศทางว่าจะเป็นแบบไหนเดินไปอย่างไร ดังนั้น การกำหนดนโยบายการพัฒนาจากข้างบนกับท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดจึงกำหนดไปกันคนละทาง
ประพันธ์ ถิ่นเกาะยาว คนท้องถิ่นและนักการเมืองท้องถิ่นภูเก็ตเสนอทางออกที่เป็นจริงได้ไม่ยาก “คือ ท้องถิ่นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกำหนดการพัฒนาและตัดสินใจ เพราะอย่างน้อยคนท้องถิ่นย่อมรู้จักท้องถิ่นดี ไม่ใช่ให้ทางการสั่งอย่างเดียวไม่ใช่เป็นแบบ top down ที่เป็นอยู่ทางการกำหนดมาให้เราทำตาม และความเจริญไม่ได้วัดว่าในพื้นที่ต้องมีมารีนา ต้องมีตึกสวยๆ เราคิดมีจิตสาธารณะ จิตมีส่วนร่วมนั่นคือความเจริญแล้ว”
“ถ้าทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันแก้ปัญหา ไม่มีการวางแผนจัดการพื้นที่ มองปัญหาในภาพรวมเพื่อกำหนดทิศทางที่ชัดเจนว่าตกลงภูเก็ตจะเป็นอย่างไร ไม่มีการกำหนดจำนวนกิจกรรมให้เหมาะสมกับความสามารถในการรองรับของพื้นที่ และดำเนินการตามแผนในระยะยาว ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ สถานการณ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมันคงจะแย่ลงเรื่อยๆ แย่ลงในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศชายฝั่ง แย่ลงทางด้านวิถีชีวิตของคนภูเก็ตที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ปัญหาขยะ มลพิษ การขาดแคลนน้ำใช้ รวมทั้งปัญหาน้ำเสียต่างๆ ที่ยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนในปัจจุบัน ในระยะยาวถ้าไม่มีการจัดการที่เหมาะสม ปัญหาเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่” นั่นเป็นทัศนะทางออกของ ดร.นลินี ทองแถม นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม
ทางออกของการพัฒนา จ.ภูเก็ตทางหนึ่งก็คือกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ตแต่ต้องเดินเคียงคู่ไปกับการรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรมตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน ซึ่งทำได้ไม่ยาก เพียงแต่เราต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักคำว่า “รอ” และ “ไม่รีบเร่ง” ยอมให้การท่องเที่ยวเติบโตในอัตราที่ลดลงกว่านี้สักนิด ตัวเลขและรายได้ที่เคยเป็นที่หนึ่งมาตลอดอาจจะตกไปอยู่ในอันดับสองก็ไม่เป็นไร
เรามองศักยภาพของภูเก็ตในด้านการท่องเที่ยวเพียงด้านเดียว รากฐานของวิถีชีวิตชาวเกาะไม่ใช่นักธุรกิจ แต่เป็นวิถีการผลิต เช่น เกษตรกรหรือชาวประมง การรื้อฟื้นคุณค่า สร้างคุณภาพชีวิตเหล่านี้ให้คงอยู่เท่ากับเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตของชาวเกาะดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น ดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมของประเทศ (จีดีเอช) ค่อนข้างต่ำจะค่อยๆ สูงขึ้นพร้อมๆ กับระบบเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราที่คงที่ นอกจากนี้การกำหนดนโยบายการพัฒนาอะไรก็ตามต้องให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดบทบาทหน้าที่ของตัวเองเริ่มมาจากฐานราก เริ่มมาจากชุมชน ปัญหาที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบไปสู่ส่วนอื่นๆ จะมีน้อยลง
วันที่ฝันว่าภูเก็ตจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติคงไม่ไกลเกิน
คนภูเก็ตไม่ต้อง “ยิ้มเหงาๆ เศร้าพองามๆ” ในเมืองที่เป็นรากเหง้าและเรือนตายแห่งนี้อีกต่อไป เพราะภูเก็ตจะกลายเป็นเมืองอยู่แล้วมีแต่ความสุข
และต้องไม่ปล่อยให้การมีส่วนร่วม การพัฒนาที่ยั่งยืน สิทธิชุมชนเป็นเพียงวาทกรรมมากกว่าการกระทำ ไม่เช่นนั้นแล้ว... “คนภูเก็ต” จะกลายเป็น “คนพื้นเมือง” เป็นสินค้าชนิดหนึ่งของอุตสาหกรรมไร้ปล่องควัน...
สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |