homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ภูเก็ตวันนี้ที่เป็น...อยู่...คือ?

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1– 15 สิงหาคม 2554

            วิสัยทัศน์การพัฒนา จ.ภูเก็ต คือ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นการรองรับแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการใช้ประโยชน์ด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงภาคใต้กับภูมิภาคเอเชียและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการเตรียมการรับยุทธศาสตร์ ด้านพลังงานและ Land Bridge ของรัฐบาล จึงได้กำหนดเป้าประสงค์ในการเตรียมความพร้อมพื้นที่ เพื่อรองรับประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจเอเชียใต้ของยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน ซึ่งประกอบด้วยภูเก็ต พังงา และกระบี่ 

            หากจะคิดถึงนโยบายการพัฒนายั่งยืนต้องหมายรวมถึงการพัฒนาทั้ง 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่ลุ่มลึกกว่าเพียงแค่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริโภคทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระดับที่ยังรักษาสมดุลที่ดี ทำให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

            จะเห็นได้ว่าการอุตสาหกรรมไร้ปล่องควันหรืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ตมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและไม่มีสิ่งใดจะหยุดยั้งได้ พิจารณาข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาพักในจังหวัดภูเก็ต ในปี พ.ศ.2550 มากถึง 5,005,653 คน สร้างรายได้ให้กับประเทศ  94,239.52 ล้านบาท และปี พ.ศ.2551 มีนักท่องเที่ยวเข้ามากถึง 5,313,308 คน  สร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 101,684.44  ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันประมาณ 4,517.45 บาท (หมายเหตุ : ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ โดยใช้ฐานรายได้ปี 2550 บวกกับรายได้ ปี2550 x อัตราของดัชนีราคาผู้บริโภคจังหวัด  ปี พ.ศ.2551)

จำนวนนักท่องเที่ยว (คน)


            ในด้านการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนรายย่อย เงินลงทุนอยู่ในระดับ 2-10 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2552 จำนวนนิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่ จำนวน 1,350 ราย จำนวนเงินลงทุน 2,647.75 ล้านบาท ลดลงจากปี พ.ศ. 2551 มีจำนวน 1,612 ราย  คิดเป็นเงินลงทุน 4,034.96 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.25 และ 34.37 ตามลำดับ  โดยจดทะเบียนลงทุนในรูปแบบบริษัทไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80  และร้อยละ 20 เป็นการจัดตั้งห้างหุ้นส่วน คนไทยถือหุ้น ร้อยละ 51 และต่างชาติถือหุ้น ร้อยละ 49 กระจัดกระจายอยู่ในเขตพื้นที่ อ.เมือง ร้อยละ 61.05  อ.กะทู้ ร้อยละ 30.88 และ อ.ถลาง ร้อยละ 8.07  (ข้อมูลจากแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ปี 2553-2556)

                                                                                    โปรดอ่านต่อฉบับหน้า

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: