homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

การให้ (จบ)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16 – 30 เมษายน 2554

โครงการชุมชนชายฝั่ง พังงา-ภูเก็ต เพื่อการพึ่งตนเองส่งเสริมเรื่องการให้หรือ “การส่งต่อหรือการส่งต่อของขวัญ” (Passing on the Gifts) ดำเนินโครงการกับชุมชนชายฝั่งเพื่อการพึ่งพาตนเอง7 กลุ่มในพื้นที่ จ.ภูเก็ตและพังงาภายใต้การสนับสนุนขององค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) ร่วมกับองค์กรไฮเฟอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 โดยมีหลักการสำคัญคือ สมาชิกกลุ่มพึ่งตนเองจะต้องส่งต่อของขวัญที่ได้รับมาให้กับผู้อื่น

            กลุ่มที่เริ่มต้นที่ได้รับการสนับสนุนปัจจัย 7 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเลี้ยงเป็ดเทศ บ้านกลาง จ.พังงา  25 ครอบครัว 2. กลุ่มเลี้ยงเป็ดเทศ บ้านในหงบ จ.พังงา 15 ครอบครัว 3. ธุรกิจชุมชนน้ำมันมะพร้าว ชุมชนท่าไร่ จ.พังงา  25 ครอบครัว  4. ธุรกิจชุมชนเครื่องแกงตำมือ ชุมชนท่าแกรง จ.พังงา 15 ครอบครัว  5. กลุ่มเลี้ยงเป็ดเทศ บ้านท่าสนุก จ.พังงา  25 ครอบครัว  6. กองทุนข้าวสาร ชุมชนในไร่ จ.พังงา 15 ครอบครัว และกองทุนข้าวสาร ชุมชนแหลมหลา จ.ภูเก็ต 15 ครอบครัว รวมทั้งหมด 135 ครอบครัว

            สมาชิกกลุ่มจะได้รับการสนับสนุนเริ่มต้นกลุ่มเป็นสัตว์เลี้ยงและงบประมาณ บางกลุ่มเป็นกองทุนหมุนเวียนเพื่อไปต่อยอดธุรกิจของตนเองในระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นทั้ง 7 กลุ่ม จะต้องนำสิ่งที่ตนเองได้รับมา ไม่ว่าจะเป็น พันธุ์เป็ด ข้าวสาร กองทุนหมุนเวียนมอบให้หรือเรียกว่า “ส่งต่อของขวัญ” ให้กับกลุ่มต่อไปเพื่อเป็นการให้โอกาสกับสมาชิกครอบครัวถัดไปด้วย

            การส่งต่อของขวัญให้สมาชิกกลุ่มที่รับต่อนั้นสมาชิกกันเป็นผู้พิจารณาบนพื้นฐานความต้องการของสมาชิกและสอดคล้องกับสภาพชุมชนท้องถิ่น เช่น กลุ่มเริ่มต้นเลี้ยงเป็ดเทศ บ้านกลาง จ.พังงาส่งให้กับกลุ่มเลี้ยงหอยนางรม บ้านกลางในจำนวนครอบครัวที่เท่ากัน หรือ กลุ่มเริ่มต้นเป็นธุรกิจชุมชนน้ำมันมะพร้าว ชุมชนท่าไร่ จ.พังงาส่งต่อให้กับกลุ่มเลี้ยงหอยนางรม บ้านใต้ จ.พังงา โดยพิจารณากันว่าหอยนางรมเลี้ยงง่ายและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก

            จะเห็นได้ว่า “การให้” หรือ “การส่งต่อของขวัญ” นั้นไม่ได้คิดว่าจะให้แล้วก็กำหนดปัจจัยที่จะให้ เพราะสิ่งที่ผู้รับๆ ไปแล้วไม่สอดคล้องและไม่เป็นที่ต้องการจะเป็นภาระ สร้างความทุกข์ให้กับสมาชิกในกลุ่ม หลายๆ ชุมชุนพบว่า การให้ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกได้ให้เช่นกัน...ให้ไม่สามัคคีกัน สร้างความขัดแย้งไม่นานนักกลุ่มดังกล่าวก็ล้มจมหายไปพร้อมกับเงินกองทุนสารพัดดังเช่นที่เป็นข่าวได้ยินกันบ่อยๆ

            จริงอยู่ที่ใครๆ ก็อยากได้เงิน ความโลภสิงอยู่ในตัวเราทุกคน หากกลุ่มใช้การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม การตัดสินใจร่วมของสมาชิก ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่กลุ่มได้ช่วยกันสร้างขึ้นมาเพื่อยกระดับและขัดเกลาจิตใจของสมาชิก และในที่สุด ก็จะเข้าใจเรื่อง “การให้” อย่างแท้จริง

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: