สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
21 กุมภาพันธ์ 2550
เรื่อง โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ และโครงการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดพังงาของบริษัทเอกชน
กราบเรียน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ข้าพเจ้าขอตั้งกระทู้ถาม นายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
สืบเนื่องจากมีบริษัทเอกชน ได้ยื่นขออนุญาตต่อหน่วยงานของรัฐ เพื่อดำเนินการตามโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือและโครงการที่เกี่ยวข้องบริเวณอ่าวคลองสน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา โดยจะทำการขุดลอกทรายเพื่อการเดินเรือ ก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือคอนกรีตเสริมเหล็ก วางทุ่นลอยโป๊ะเทียบเรือ ( พอนทูน ) และก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบหินทิ้ง ซึ่งหน่วยงานของรัฐก็ได้ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทเอกชนนั้น ทั้งที่เป็นการขัดกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติจังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง และจังหวัดสตูล พ.ศ 2549 เพราะพื้นที่ที่ได้ดำเนินการตามโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นเขตพื้นที่ที่มีแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์หญ้าทะเล จากการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เพราะพื้นที่บริเวณอ่าวคลองสนเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งทรัพยากรหญ้าทะเล แนวปะการัง และสัตว์น้ำที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่ประกอบอาชีพประมงของประชาชนในพื้นที่ด้วย การออกใบอนุญาตสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ อันได้แก่ สะพานท่าเทียบเรือ พอนทูน - ที่จอดเรือ ขุดลอกทรายและเขื่อนกันคลื่นแบบหินทิ้ง เป็นการเอาสิทธิของสาธารณะและชุมชนไปเป็นสิทธิของเอกชนรายเดียว ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อเรียกร้องสิทธิ ของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เพื่อดำเนินการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่มีลักษณะไม่ชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่บริเวณอ่าวคลองสน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงาด้วย จึงเรียนถามว่า
- รัฐบาลจะมีการทบทวนการอนุญาตอันได้แก่ใบอนุญาต สิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั้ง 4 ฉบับ ( สะพานท่าเทียบเรือ พอนทูน - ที่จอดเรือ ขุดลอกทรายและเขื่อนกันคลื่นแบบหินทิ้ง )ให้บริษัทเอกชนดำเนินการตามโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงการที่เกี่ยวข้องดังกล่าว รวมทั้งโครงการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันในที่อื่นๆ รอบอ่าวพังงา เช่น ที่แหลมยามู ต.ป่าคลอก และอ่าวฉลอง จ.ภูเก็ต โดยให้มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการอย่างละเอียด และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือไม่อย่างไร
ประเด็นเพิ่มเติม เนื่องจากการอนุญาตให้บริษัทเอกชน โดยคณะทำงานพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ จ.พังงา ซึ่งเป็นกลไกหลักของจ.พังงาหรือภูเก็ตและกระบี่ ขาดประสบการณ์และความรอบคอบ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิสาธารณะ และชุมชนตลอดจนวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวพังงา และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จ.พังงา ได้ดำเนินการจัดประชุมคณะทำงานพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ จ.พังงา โดยมีผู้ว่าราชการจ.พังงา นายวินัย บัวประดิษฐ์ เป็นประธานร่วมกับคณะทำงานโดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเบื้องต้นได้ดำเนินการระงับการดำเนินโครงการไว้ชั่วคราว ( ตามข้อตกลงร่วมกับแกนนำชุมชนเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2550 ) ซึ่งขณะนี้เป็นเวลากว่า 40 วัน ชาวบ้านชุมชนย่าหมียังคงปักหลักเฝ้าระวังชายหาดบริเวณอ่าวคลองสนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้จ.พังงาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกเลิกใบอนุญาต 4 ฉบับ แต่ทางคณะทำงานชุดดังกล่าวกลับซื้อเวลาและไม่แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ตรงประเด็นกับความต้องการของชุมชนและสาธารณะ ข้าพเจ้าจึงขอให้ทางรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน
- รัฐบาลมีนโยบายจะตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่เกาะยาว จังหวัดพังงา รวมทั้งในพื้นที่เกาะ และชายฝั่งทะเลอื่นๆ เพื่อไม่ให้ที่ดินสาธารณะต้องตกเป็นของนายทุนและชาวต่างชาติอันเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชนท้องถิ่นหรือไม่ อย่างไร
ประเด็นเพิ่มเติม กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการตรวจสอบปัญหาที่ดินใน อ.เกาะยาวที่ผ่านมาทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาและจัดการกับปัญหา กรณีการครอบครองเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก
- รัฐบาลมีแนวทางที่จะขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับธรณีพิบัติ จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง และจังหวัดสตูล พ.ศ. 2549 หรือไม่ อย่างไร
ประเด็นเพิ่มเติม การออกใบอนุญาต 4 ฉบับ ( สะพานท่าเทียบเรือ พอนทูน - ที่จอดเรือ ขุดลอกทรายและเขื่อนกันคลื่นแบบหินทิ้ง ) ผิดกฎกระทรวงตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นว่าคณะทำงานพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ จ.พังงา ละเลยและขาดความสนใจหรือขาดการบูรณาการข้อห้ามตามกฎกระทรวง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวในการทำลายแหล่งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อีกทั้งการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องรีบดำเนินการแก้ไข นอกจากนี้การขยายเวลาประกาศพื้นที่คุ้มครองจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งตลอดจน จะต้องมีมาตรการส่งเสริมด้านการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมให้ชัดเจนและต่อเนื่องอีกด้วย
ขอให้ตอบในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ขอแสดงความนับถือ
( นางเตือนใจ ดีเทศน์ )
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ |