homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

แถลงการณ์เวทีอาเซียนภาคประชาชนครั้งที่2

มติชนรายวัน     วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552    หน้า 9

พวกเรา ตัวแทนกว่า 500 คน ในที่ประชุมเวทีอาเซียนภาคประชาชนครั้งที่ 2 ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และขอแสดงความสมานฉันท์ กับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ และผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่งเกิดขึ้น ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และในแปซิฟิก เราเรียกร้องให้อาเซียนสร้างหลักประกันที่สอดคล้องกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม เราเน้นย้ำหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็น

เราผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ไม่มีตัวแทนจากภาครัฐเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เป็นการก้าวถอยหลังต่อคำมั่นสัญญาของอาเซียนที่จะส่งเสริมอาเซียนที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง

เสาเศรษฐกิจ

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) มุ่งส่งเสริมให้เกิดภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ รุ่งเรือง และมีความสามารถในการแข่งขันสูง พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียม การลดความยากจนและช่องว่างด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ โดยผ่านการเปิดเสรีอย่างสมบูรณ์และการเปิดเศรษฐกิจภูมิภาคภายในปี 2558 อย่างไรก็ตาม กรอบเศรษฐกิจการตลาดในเชิงแข่งขันซึ่งให้ประโยชน์เป็นสำคัญต่อบรรษัทข้ามชาติและเกิดจากความริเริ่มของรัฐบาลในอาเซียน ได้ส่งผลคุกคามต่อทรัพยากรและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก ทำให้เกิดความยากจนมากขึ้น ทั้งในบรรดาชาวไร่ชาวนารายย่อย ชาวประมงและคนงานในประเทศกำลังพัฒนา ยิ่งทำให้เกิดความอสมมาตรในภูมิภาคที่เลวร้ายลง ทำให้เกิดความยากจนและความไม่เท่าเทียมมากขึ้น การผนวกรวมด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนส่งเสริมส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อคนงานในประเทศและคนงานพลัดถิ่นและครอบครัวของพวกเขา รวมทั้งประชาชนที่ไร้สัญชาติและไม่อยู่ในข้อมูลทะเบียนราษฎร และผู้มีเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โดยเฉพาะส่งผลให้สภาพการทำงาน อาชีพ และมาตรฐานการครองชีพเสื่อมทรามลง

เราขอเรียกร้องอาเซียนให้สนับสนุนและร่วมมือกับประชาชนในอาเซียนเพื่อจัดให้มีการประเมินอย่างเป็นอิสระในเชิงยุทธศาสตร์ ก่อนจะมีการเจรจาความตกลงด้านการค้าและการลงทุน โครงการและกระบวนการด้านอุตสาหกรรมใดๆ ทั้งนี้ ให้มีการประเมินผลกระทบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้านสังคม (SIA) และด้านมนุษย์ (HIA) และการประเมินผลกระทบด้านเพศสภาพ ความตกลงการค้าใดๆ จะต้องไม่มีผลกระทบที่บั่นทอนการเข้าถึงยาและการรักษา

เสาสังคมและวัฒนธรรม

เป้าหมายหลักของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC) คือการมุ่งส่งเสริมให้เกิดประชาคมอาเซียนที่มี "ประชาชนเป็นศูนย์กลางและรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและความสามัคคีที่ยั่งยืนในบรรดาประชาชาติและประชาชนของอาเซียน แม้เราจะตระหนักถึงความพยายามในการสร้างสังคมที่ให้การดูแลและแบ่งปันกันของอาเซียน เรายังเรียกร้องอาเซียนให้ยอมรับใช้วาระเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ โดยเน้นหลักการความเท่าเทียม ความเท่าเทียมโดยสาระบัญญัติ การไม่แบ่งแยกกีดกัน ความเป็นเอกภาพและความยั่งยืน

เราเรียกร้องอาเซียนให้ตระหนักถึงและเคารพต่ออัตลักษณ์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกเทศของชนพื้นเมือง ในระดับภูมิภาค เราจะต้องประกันให้เกิดความหลากหลายด้านวัฒนธรรม การมีชีวิตรอดร่วมกัน การพัฒนา การคุ้มครองให้ปลอดจากการถูกทำให้เป็นสินค้าและการค้า เราขอเรียกร้องอาเซียนให้แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติและประกันให้คนไร้สัญชาติเหล่านั้น เข้าถึงสิทธิและประโยชน์ขั้นพื้นฐานในสังคมอาเซียน

เราขอเรียกร้องคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนงานพลัดถิ่นแห่งอาเซียน ให้พิจารณาข้อมูลจากภาคประชาสังคมเกี่ยวกับการกำหนดกรอบเพื่อคุ้มครองคนงานพลัดถิ่นและครอบครัว โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพของพวกเขา

เสาการเมืองและความมั่นคง

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community - APSC) มุ่งส่งเสริมประชาชนและรัฐภาคีในอาเซียนให้มีชีวิตอย่างสงบสันติร่วมกัน รวมทั้งในระดับโลก โดยยึดมั่นต่อหลักประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล การมุ่งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียน แม้เราจะยินดีแต่ยังเห็นว่า กลไกนี้เน้นที่รัฐเป็นศูนย์กลางมากเกินไป อาเซียนและรัฐภาคีจะต้องทำงานอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม อย่างเป็นกิจจะลักษณะต่อประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคง ภาคประชาสังคมควรมีส่วนร่วมโดยตรงและอย่างจริงจัง

เราเรียกร้องให้อาเซียนแสดงบทบาทในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งปวง ทั้งที่เกิดขึ้นที่มินดาเนา ภาคใต้ของไทย ปาปัวตะวันตก พม่าและทะเลจีนใต้ อาเซียนจะต้องติดตามข้อมูลและรับทราบสถานการณ์ภายหลังความขัดแย้งและปัญหาในการสร้างสันติภาพในอาเจะห์และติมอร์เลสเต ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องแก้ปัญหาความยุติธรรม การลอยนวลของผู้กระทำผิด และการสมานฉันท์อย่างจริงจัง รวมทั้งปัญหาการถดถอยด้านประชาธิปไตยของภูมิภาคนี้

อาเซียนควรแก้ปัญหาความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องและการปฏิเสธความรับผิดชอบของรัฐภาคีที่มีต่อผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นในประเทศ และผู้ที่น่าห่วงใยทั้งปวง และขอเรียกร้องรัฐภาคีแห่งอาเซียนให้ให้สัตยาบันรับรองโดยทันทีต่ออนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และให้ปฏิบัติตามหลักการว่าด้วยการพลัดถิ่นในประเทศและหลักการไม่ส่งกลับในกรณีที่ผู้ที่ถูกส่งตัวกลับอาจได้รับอันตราย ซึ่งเป็นหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐในอาเซียนควรอนุญาตให้มีการจัดทำข้อมูลทะเบียนราษฎรของคนไร้สัญชาติ รวมทั้งผู้ที่รัฐต้นกำเนิดปฏิเสธไม่ยอมรับสถานภาพอย่างเช่นกรณีของชาวโรฮิงญา

เราเรียกร้องอาเซียนให้ประกันความมั่นคงด้านวัฒนธรรมของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งการเคารพต่อภาษาและการพัฒนากลไกเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นและการคุ้มครองสิทธิการตัดสินชะตากรรมของตนเอง โดยเฉพาะสำหรับชนพื้นเมือง รัฐบาลในอาเซียนควรทบทวนกฎหมายและนโยบายของตน เพื่อให้มีการคุ้มครองอย่างเต็มที่ต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น การรวมตัว การจัดตั้งเป็นสมาคม และเสรีภาพด้านศาสนา

เสาสิ่งแวดล้อม

เพื่อเป็นการตอบรับกับสถานการณ์ที่เร่งด่วนและเพิ่มทวีขึ้นของวิกฤตสิ่งแวดล้อมและภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาเซียนต้องเร่งกระบวนการที่จะนำไปสู่การประกาศเสาที่สี่ ด้าน

สิ่งแวดล้อมในโครงสร้างและกลไกธรรมาภิบาลของอาเซียน ซึ่งจะทำให้เกิดมีความยั่งยืนของ

สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เพศสภาพ สังคม และความเป็นธรรมในประเด็นการเปลี่ยนแปลง

สภาพภูมิอากาศ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจ

การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอาเซียนในปัจจุบัน กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เช่น เหมือง เขื่อน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และการปลูกพืชเศรษฐกิจ นำมาซึ่งการเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบด้านลบต่อประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนและชนเผ่าต่างๆ การทำให้ความรู้ ข้อปฏิบัติต่างๆ และทรัพยากรธรรมชาติ กลายเป็นสินค้าหรือทุน ผ่านการทำข้อตกลงทางการค้า การลงทุน การจดสิทธิบัตร โดยทำให้ชุมชน โดยเฉพาะชนพื้นเมืองต่างๆ ถูกกันออกห่างจากการใช้ทรัพยากรของเขาเอง

เราเรียกร้องให้อาเซียนตระหนักในประเด็นที่ว่า ชนพื้นเมืองเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และอาเซียนต้องสร้างกลไกที่จะรับประกันว่ากระบวนการปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชนจะเป็นการะบวนการที่สามารถตรวจสอบได้ และขอให้อาเซียนเซ็นรับรอง และปฏิบัติการเพื่อความโปร่งใสในการทำอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อรับประกันว่าจะมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ดี โดยยึดหลักความเท่าเทียมกันที่โปร่งใส

อาเซียนควรจัดตั้งศูนย์วิจัยด้านภัยพิบัติแห่งอาเซียนเพื่อรวบรวมการประเมินอันตรายตามลักษณะภูมิศาสตร์ของแต่ละรัฐภาคี และให้มีการนำองค์ความรู้ของชนพื้นเมืองและคนในท้องถิ่นไปใช้เพื่อปรับปรุงแนวทาง แก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเข้าเมือง ยุทธศาสตร์ที่ช่วยคุ้มครองด้านการไม่เลือกปฏิบัติ โดยมีการปรับปรุงข้อมูลและปรึกษาหารือกับประชาชน

พันธกิจของเรา

พวกเรา ประชาชนอาเซียน จะยังคงขับเคลื่อนเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชนระดับรากหญ้าและชุมชนชายขอบ (เช่น ผู้หญิง เด็ก ชนพื้นเมืองและคนพลัดถิ่น) องค์กรภาคประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งจะทำงานร่วมกันเพื่อทำให้เกิดเป็นเวทีเพื่อการพูดคุยและปฏิสังสรรค์ระหว่างประชาชนในอาเซียน

เราขอส่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเสียงเรียกร้องของประชาชนเมียนมาร์/พม่า และเรียกร้องรัฐบาลพม่าให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ในชาติ และเพื่อประกันว่าการเลือกตั้งในปี 2553 จะมีขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้ประเทศมุ่งไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เรามุ่งมั่น ที่จะส่งเสริมการรวมตัวอย่างมีเอกลักษณ์เพื่อร่วมใจกันและสนทนาระหว่างกันในระหว่างประชาชน เพื่อรับประกันว่า เป้าหมายแห่งอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางจะได้รับการยอมรับ เราจะข้องเกี่ยวกับภาครัฐบาลของอาเซียนต่อไปในช่วงปี 2553 ในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 16 ที่ประเทศเวียดนาม เพื่อติดตามข้อเรียกร้องที่ภาคประชาชนมีต่ออาเซียน และขอเรียกร้องให้เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนประเทศต่อไป ให้สนับสนุนการเจรจาและการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของภาคประชาสังคมกับอาเซียนต่อไป

หมายเหตุ - เนื้อหาบางส่วนของแถลงการณ์ภาคประชาชนอาเซียนซึ่งเเตรียมยื่นต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียน แต่เกิดความไม่ลงตัว เนื่องจากรัฐบาลอาเซียนตั้งเงื่อนไขสารพัดในที่สุดภาคประชาชนจึงคว่ำบาตรและแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแทน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: