ชาวประมงเจ้ยเคยยื่นหนังสือผู้ว่าฯพังงาขอให้ออกประกาศจังหวัด
รายงานข่าวจากพื้นที่
ตามหนังสือจากสำนักงานประมงจังหวัดพังงา ที่พง0006/ว/5418 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่องความเดือดร้อนของกลุ่มชาวประมงจับกุ้งเคยฝั่งทะเลอันดามัน แจ้งมาว่าจากการพิจารณาของกรมประมงพบว่าบริเวณชายฝั่งทะเลเป็นแหล่ง ซึ่งมีสัตว์น้ำนานาชนิดวางไข่และอาศัยเลี้ยงตัวเพื่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำในวัยอ่อน ชาวประมงได้อาศัยเครื่องมือเคลื่อนที่ขนาดเล็กโดยใช้แรงงานคนประกอบอาชีพ ต่อมาได้มีชาวประมงใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุนเข้าไปทำการประมงเป็นจำนวนมาก เป็นการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2515 เพื่อห้ามใช้เครื่องมืออวนลากชนิดมีถุง และเครื่องมืออวนรุน ละวะ ชิบหรือรุนกุ้งเคยหรืออวนถุงทุกชนิดและทุกขนาด ที่ใช้เครื่องยนต์ทุกชนิดทำการประมง ไม่ว่าวิธีการใดๆเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำมิให้ถูกทำลายมากเกินควร โดยใช้บังคับในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทุกจังหวัด และต่อมาได้พิจารณาเห็นว่าทะเลบริเวณอ่าวพังงาในท้องที่จังหวัดพังงา ภูเก็ตและกระบี่ มีเกาะต่างๆ อยู่มาก มีปะการังอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งซึ่งมีสัตว์น้ำนานาชนิดวางไข่และอาศัยเลี้ยงตัวเพื่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน และได้มีชาวประมงใช้เครื่องมืออวนลาก และอวนรุน เข้าไปทำประมงบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก ทำให้มาตรการที่ใช้อยู่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ออกมาใช้บังคับเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ในกรณีของอวนรุนเคย กรมประมงได้ศึกษาทางวิชาการพบว่าสัตว์น้ำที่จับได้นอกจากเคยแล้วยังมีสัตว์น้ำอื่นๆปนอยู่ด้วย ดังนั้น การผ่อนผันใช้เครื่องมือเจ้ยกุ้งเคยความกว้างไม่เกิน 3.50 เมตรและมีความยาวของคันจากผิวน้ำจดปลายไม่เกิน 5 เมตร ประกอบกับเรือยนต์ความยาวไม่เกิน 6.50 เมตร เครื่องยนต์ไม่เกิน 400 ซีซีหรือ 13 แรงม้า ทำการประมงแบบช้อนเคยตักเดินหน้าไม่เกิน 5 เมตร จึงเป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังกล่าวอย่างชัดเจนและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 52 เวลา 10.00 น. ตัวแทนเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดพังงา จำนวน 10 คน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายเยี่ยมสุริยา พาลุสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เรื่อง ความเดือดร้อนของชาวประมงอวนช้อนกุ้งเคย เนื่องจากเครื่องมืออวนช้อนกุ้งเคยหรือในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า การเจ้ยเคยมีลักษณะคล้ายกับเครื่องมืออวนรุน ซึ่งขัดกับประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทางกลุ่มชาวประมงอวนช้อนกุ้งเคยมีข้อเสนอและทางออก พร้อมมาตรการในการแก้ไขปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา โดยขอให้ออกเป็นประกาศจังหวัดพังงารับรองการทำประมงอวนช้อนกุ้งเคย โดยกำหนดการทำประมงอวนช้อนกุ้งเคยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.คันช้อนกุ้งยาวจากระดับน้ำทะเลลงไปไม่เกิน 6 เมตร 2.ปากอวนกว้างไม่เกิน 4 เมตร 3.ให้มีการควบคุมเรือที่ทำอวนช้อนกุ้งเคยโดยจะต้องให้จดทะเบียนเรือปีละ 1 ครั้ง 4..กำหนดระยะเวลาในการทำประมงอวนช้อนกุ้งเคยจากเดือนกันยายน - มกราคม 5.ให้ตีความหมายคำว่ารุนกับคำว่าช้อนใหม่
นายบัณฑิต หลีบำรุง ชาวประมงอวนช้อนกุ้งเคยบ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา กล่าวว่า การทำอวนช้อนกุ้งเคยอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของจังหวัดพังงา คือ อำเภอตะกั่วทุ่งและอำเภอท้ายเหมือง มีความลาดชัน ระดับน้ำทะเลค่อนข้างลึก การออกจับกุ้งเคยจำเป็นจะต้องใช้เรือขนาดเล็กท้องแบนเท่านั้น อุปกรณ์เครื่องมือจะมีความคล้ายกับเรืออวนรุน เมื่อมองเห็นกลุ่มกุ้งเคยจึงทำการช้อนกุ้งเคยขึ้นมา ไม่ได้รุนเหมือนกับเรืออวนรุนตามที่เข้าใจ และช่วงเวลาที่จับจะจับกุ้งเคยเฉพาะตอนกลางวัน อยากให้หน่วยงานประมงมาทำวิจัยจะได้ทราบความจริงว่าไม่มีผลกระทบกับทรัพยากรชายฝั่งแต่ประการใด
ส่วนทางด้านผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาได้รับเรื่องไว้และ จะประสานงานกับทางสำนักงานประมงจังหวัดและอำเภอท้ายเหมืองต่อไป |