homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ประมงพื้นบ้านร่วมถกปัญหาอวนช้อนเคย

9 พ.ย.52

เมื่อวันที่ 9 พ.ย.52 เวลา 14.00 น. ที่บ้านหารบัว หมู่ 5 ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา มีการประชุมหารือเรื่องกรณีปัญหาและการแก้ไขปัญหาอวนช้อนเคยฝั่งทะเลอันดามันใน จ.พังงา มีตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจากหมู่บ้านในไร่ ต.นาเตย หมู่บ้านเกาะนก ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมืองบ้าน บ้านนาใต้ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา จำนวน 35 คน

ในการประชุมในครั้งนี้ได้พูดคุยกันถึงเรื่องของปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาเรือช้อนเคย ซึ่งจะถูกเรือตรวจการณ์ประมงหรือเรือใบไม้เขียวจับกุมในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี เพราะเครื่องมืออวนช้อนเคยมีลักษณะคล้ายกับเครื่องมือเรืออวนรุน  ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมายตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม 2515 เพื่อห้ามใช้เครื่องมืออวนลากชนิดมีถุง และเครื่องมืออวนรุน ละวะ ชิบหรือรุนกุ้งเคยหรืออวนถุงทุกชนิดและทุกขนาด ที่ใช้เครื่องยนต์ทุกชนิดทำการประมง ไม่ว่าวิธีการใด ๆ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำมิให้ถูกทำลายมากเกินควร โดยใช้บังคับในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทุกจังหวัด แต่อวนช้อนเคยมีความแตกต่างจากเรืออวนรุน  ตรงที่การช้อนเคยไม่ทำลายทรัพยากรชายฝั่งจะช้อนได้แต่กุ้งเคยเพื่อนำไปทำกะปิ ส่วนเรืออวนรุนเป็นเครื่องมือที่ทำลายทรัพยากรชายฝั่ง เช่น หญ้าทะเล และปะการัง

เครื่องมือที่ใช้ในการช้อนเคย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเจ้ย กับ อวนรุนแตกต่างกัน  ชาวประมงพื้นบ้านเรียกร้องให้หน่วยงานของกรมประมงศึกษาถึงวิธีการช้อนเคยว่าในการช้อนเคยไม่มีสัตว์น้ำอื่นๆ ปะปนอยู่ด้วย และลักษณะเครื่องมือในการช้อนเคย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เจ้ย นั้นมีลักษณะที่คล้ายกับอวนลาก คือ มีถุงตาข่าย และมีปากอวนกว้างไม่เกิน 4 เมตร  แต่ในลักษณะการช้อนนั้นระดับในการช้อนจากระดับน้ำทะเลลงไปไม่เกิน 6 เมตร ไม่เหมือนกับอวนรุน ที่ใช้เครื่องยนต์ในการช้อน และลงลึกไปถึงพื้นหน้าดินใต้น้ำทำให้ ปะการัง หญ้าทะเลและสัตว์น้ำ ทั้งเล็กและใหญ่ ติดตาข่ายขึ้นมาทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ และบวกกับลักษณะภูมิประเทศฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงา คือ อำเภอตะกั่วทุ่งและอำเภอท้ายเหมือง มีความลาดชันระดับน้ทะเลข้องข้างลึกของอ่าวพังงามีลักษณะที่เป็นน้ำลึก การช้อนเคยมีลักษณะการช้อนเคยของชาวบ้านเป็นการช้อนเคยที่ใช้แรงงานคน มีการช้อนในระดับผิวน้ำไม่ลึกมากนัก ดังนั้นชาวบ้านก็ไม่สามารถที่จะทำการช้อนในระดับที่ลึกได้ เพราะถ้าช้อนลึกเกินไป ชาวบ้านก็ไม่มีแรงในการยกขึ้นได้

นายบัณฑิต หลีบำรุง อายุ 45 ปี อาชีพประมงพื้นบ้าน 55/2 หมู่ 7 ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา กล่าวว่า “ชาวบ้านแถวนี้ ทำการประมงเรือช้อนเคยมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็โดนเรือใบไม้เขียวจับกุมทุกปี เมื่อเดือนที่แล้วชาวบ้านโดนจับไป 1 คน อยากให้ทางประมงจังหวัดตีความคำว่า เรือช้อนเคย กับเรืออวนรุนใหม่ และอยากให้ทำการวิจัยเรื่องการช้อนเคยว่าพวกเราได้แต่กุ้งเคยอย่างเดียวไม่มีสัตว์น้ำอื่นปะปน”

ก่อนชาวประมงพื้นบ้านจะแยกย้ายกันกลับบ้านมีข้อสรุปจากการหารือในประเด็นดังกล่าวคือ 1.ต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลการช้อนตักเคยหรือภาษาท้องถิ่นภาคใต้เรียกว่า “เจ้ยเคย” สู่สาธารณะ ซึ่งการช้อนตักเคยเป็นวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน 2. ลักษณะการช้อนตักเคยไม่ได้ทำลายทรัพยากรชายฝั่ง และชาวปะมงพื้นบ้านต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำวิจัยเรื่องการเจ้ยเคย  3.ลักษณะพื้นที่การช้อนตักเคยเป็นทะเลฝั่งตะวันตก ทะเลอันดามัน เป็นไหล่ทวีประดับน้ำค่อนข้างลึก ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชนอย่างแท้จริง และนำไปสู่ความเข้าใจของรัฐต่อชาวประมงพื้นบ้านในอ่าวพังงา

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: