homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

แถลงการณ์
คืนสิทธิการมีส่วนร่วมแก่ประชาชน
เอาการทำลายทรัพยากรออกไป เอาทะเลไทยคืนมา
ณ ศาลากลางจังหวัดพังงา

เรียน  พี่น้องชาวพังงา  พี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน  สื่อมวลชนและเพื่อนประชาชนทุกท่าน

ในช่วงที่ประเทศไทยได้เร่งพัฒนาการทำประมงให้จับสัตว์น้ำจำนวนมากขึ้นนั้น ได้มีการนำเข้าเทคนิคการทำประมงด้วยเครื่องมืออวนลาก อวนรุน มาใช้ในประเทศไทย จนส่งผลให้ทรัพยากรทางทะเลเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก จนกระทั่ง พ.ศ. 2515 รัฐบาลไทยสมัยนั้นต้องประกาศเขตหวงห้ามมิให้ทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนลาก อวนรุน เข้ามาทำประมงในระยะ 3,000 เมตร จากชายฝั่ง มาตรการดังกล่าวได้บังคับใช้มา ๓๖ ปีถึงปัจจุบัน การทำลายทรัพยากรด้วยเครื่องมือดังกล่าวก็ยังคงรุนแรงขึ้น

พี่น้องที่รักทั้งหลาย มีแนวโน้มที่ทะเลไทยยังคงเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ เห็นได้จาก ในขณะที่ปริมาณการจับสัตว์น้ำโดยรวมเพิ่มมากขึ้น แต่อัตราการจับสัตว์น้ำในทะเลไทยกลับลดลงอย่างน่าใจหาย จากข้อมูลของกรมประมงเอง เมื่อปี พ.ศ.2504 ในหนึ่งชั่วโมงเรืออวนลากจับสัตว์น้ำได้เฉลี่ย 298 กิโลกรัม ต่อมาในปี พ.ศ.2546 เรืออวนลากจับสัตว์น้ำในหนึ่งชั่วโมงได้เฉลี่ยเหลือเพียง 29.22 กิโลกรัม และหนำซ้ำสัตว์น้ำที่จับได้นั้น เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็กไม่ได้ขนาดและปลาเป็ดถึงร้อยละ 61.50

งานศึกษาวิจัยเชิงวิชาการ ทั้งของมหาวิทยาลัย นักวิชาการกรมประมง และองค์การระดับประเทศ ระหว่างประเทศต่างๆ ประเทศไทยจึงมีข้อสรุปตรงกันว่า เครื่องมืออวนลาก อวนรุนมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำหลากชนิด, สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ และสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน จนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540) เป็นต้นมา ได้ระบุให้ลดและยกเลิกเครื่องมือทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว ปัจจุบันในร่างแผนแม่บทการจัดการประมงแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการโดยกรมประมง ก็ได้ระบุถึงแนวทางในการควบคุม ยกเลิกเครื่องมือทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว แม้มาตรการทางนโยบายยังไม่มีความชัดเจนนักก็ตาม

เมื่อปีพ.ศ.2550 ที่ผ่านมารัฐบาล, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมงได้พิจารณาปรับปรุงนโยบายควบคุมเครื่องมือการประมงทั้ง 2 ชนิด ตามข้อเสนอของ ตัวแทนสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ และสมัชชาคนจน จนได้ข้อสรุปว่า แม้จำเป็นต้องยกเลิกเครื่องมือประมงทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว แต่ควรใช้มาตรการแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการปรับปรุงมาตรการหวงห้าม 3,000 เมตรเดิม ให้ขยายออกไปเป็น 3 ไมล์ทะเล (5,400 เมตร) แทนการประกาศยกเลิกเครื่องมือทั้ง 2 ชนิดโดยทันที แม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จเด็ดขาด แต่แนวทางดังกล่าวก็ได้รับการขานรับจากทุกฝ่ายด้วยดี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ประสานให้แต่ละจังหวัดจัดการประชุมปรึกษาหารือเพื่อพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเงื่อนไขแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน และต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมกันกำหนดระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านด้วย

หลังจากนั้น ทุกจังหวัดชายทะเลของประเทศไทย มีการจัดประชุมกรณีดังกล่าวรอบที่หนึ่งไปแล้ว แต่เนื่องจากเป็นการจัดประชุมเร่งด่วน จึงขาดการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าที่ควร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ประสานให้บางจังหวัดจัดการประชุมเพื่อทบทวนผลการประชุมในครั้งแรกใหม่อีกครั้ง รวมถึงจังหวัดพังงาด้วย ซึ่งปรากฎว่าหลายจังหวัดได้ทะยอยจัดประชุมไปแล้ว  เช่น  จังหวัดภูเก็ต  สตูล  นครศรีธรรมราช เป็นต้น ปัจจุบันบางจังหวัดได้มีการประกาศเขตฯใหม่ไปแล้วเช่นกัน แต่ไม่ปรากฎว่าจังหวัดพังงาจะมีการจัดประชุมฯใหม่แต่อย่างใด ซ้ำเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 ประมงจังหวัดพังงาชี้แจงว่า “จะไม่มีการจัดประชุมใหม่ ให้ยึดมติการประชุมครั้งที่ 1 ที่มีข้อสรุปให้พังงาใช้แนวเขต 3,000 เมตรเดิม ไม่ขยายแนวเขตใหม่”

เราจึงได้พยายามประสานงานถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ผ่านทางรองผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงจังหวัดพังงา เพื่อทบทวนมติใหม่ร่วมกัน ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 โดยให้มีตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดพังงาเข้าร่วมประชุมชี้แจงด้วย จนบัดนี้เราก็ยังไม่ทราบความชัดเจนจากทางจังหวัดว่าจะดำเนินการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมประชุมทบทวนแต่อย่างใด

พี่น้องทั้งหลาย เราพร้อมที่จะรับฟังและยอมรับในหลักการเหตุผลบนฐานที่มีวิชาการรองรับ แต่เราไม่อาจยอมรับข้อสรุปที่ปราศจากเหตุผล ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ วันนี้พวกเราจึงต้องเดินทางมาติดตามความคืบหน้า ว่าจังหวัดพังงามีแนวทางต่อกรณีนี้อย่างไร และเราคาดหวังว่าจังหวัดพังงาจะเคารพสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเท่าเทียม ด้วยการจัดประชุมปรึกษาหารือเพื่อทบทวนการขยายแนวเขตหวงห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนรุน อวนลาก ที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง เป็น 3 ไมล์ทะเล (5,400 เมตร) ตลอดจนกรณีปัญหาอื่นๆ เช่น การประมงด้วยเรือปั่นไฟ, อวนดำเล็ก, ไซพับปูม้า, โพงพาง, อวนประกอบไม้กระทุ้งน้ำ และโครงการพัฒนาชายฝั่งที่มีผลกระทบต่อแหล่งทำการประมง เป็นต้น

พี่น้องชาวพังงา พี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน สื่อมวลชนและเพื่อนประชาชนทุกท่าน เราใคร่ขอวิงวอนให้ท่านติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด เพราะหากเราละเลยต่อการถูกละเมิดสิทธิพื้นฐานโดยง่ายแล้ว ต่อไปเราก็จะไม่เหลือพื้นที่ของสิทธิ หน้าที่ อันชอบธรรมของเราอีกต่อไป

ขอความสันติ และความสมานฉันท์แด่ทุกท่าน
เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดพังงา
สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้
วันที่  25 กุมภาพันธ์ 2551

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: