ดีเอสไอ-ภาคประชาชน กับ"ความสำเร็จ" ในการปกป้อง"ป่าพังงา"
จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 12 กันยายน 2551
ดีเอสไอจึงเปิดศักราชใหม่ด้วยการทำงานร่วมกับภาคประชาชน ภาคราชการ และเอกชนในพื้นที่ โดยจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหลายครั้ง จนได้ข้อสรุปถึงกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน คือ
1.การแจ้งความคืบหน้าการดำเนินคดีพิเศษให้ชาวพังงาทราบ
2.พิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินและการจัดทำแผนที่แนวเขต
3.ทำแผนจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4.สร้างอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และ
6.จัดหากองทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรม
สำหรับคดีพิเศษใน จ.พังงา พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 8 กล่าวว่า มีความคืบหน้าด้านการพิสูจน์เอกสารสิทธิในพื้นที่ดำเนินคดี ได้แก่ อ.กะปง 5 คดี เสร็จแล้ว 1 คดี พื้นที่ประมาณ 8,700 ไร่ อีก 4 คดีอยู่ระหว่างดำเนินการ พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ อ.เกาะยาว 24 คดี เสร็จแล้ว 22 คดี พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจสอบ
"การพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดินส่วนใหญ่มีปัญหา เช่น ชาวบ้านเข้าไปครอบครองแต่ว่าไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ อาทิ บนภูเขา จึงปล่อยทิ้งร้าง ตอนหลังนายทุนมากว๊านซื้อ บางคนก็ขายสิทธิ บางคนไม่รู้เรื่อง นายทุนก็ยึดไปให้เจ้าหน้าที่ออกเอกสารสิทธิจนครอบคลุมทั้งเทือกเขา"
พ.ต.ท.ประวุธกล่าวว่า จากการหารือร่วมกับกรมที่ดิน พบว่าพื้นที่ภูเขาจะออกเอกสารสิทธิได้ต้องมีหลักฐาน สค.1 เท่านั้น แต่ก็ปรากฏว่า มีการอ้าง สค.1 พื้นราบมาสวมรอยจำนวนมาก ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการพิสูจน์แล้วว่าได้มาโดยมิชอบ เป็นการใช้ช่องทางของกฎหมายสร้างเอกสารเท็จเพื่อใช้ในการออกเอกสารสิทธิ ทั้งที่เป็นที่ดินคนละแปลงกัน ซึ่งจากการทำงานของดีเอสไอพบว่า ใน จ.พังงา นอกจากที่ดินที่เป็นคดีความแล้ว ยังมีที่ผิดกฎหมายอีกหลายแห่งที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง
"เช่น กรณีมีคนพยายามออกเอกสารสิทธิที่ดินริมทะเล โดยวิ่งเต้นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ แต่บังเอิญข้อมูลนี้ถูกส่งมาที่ดีเอสไอ จึงส่งทีมไปตรวจสอบและพิสูจน์ได้ว่าเอกสารที่มีการนำมากล่าวอ้างเป็นคนละแปลงกัน ผลจากการทำงานของเราก็เหมือนเป็นการสกัดกั้นการออกโฉนด ซึ่งที่ดินบางแปลงมีมูลค่าเป็นพันล้านบาท เพราะนักลงทุนจะสร้างโครงการขนาดใหญ่ จากการทำงานอย่างจริงจัง เกาะติดพื้นที่ ติดตามคดีอย่างต่อเนื่อง ประสานงานใกล้ชิดกับภาคประชาชน ส่งผลให้ประชาชนเชื่อมั่น แจ้งเบาะแสมาอย่างต่อเนื่อง จึงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ได้ อีกทั้งยังสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มอิทธิพลข้ามชาติฟอกเงินด้วยการลงทุนทำธุรกิจท่องเที่ยว"
พ.ต.ท.ประวุธกล่าวว่า การดำเนินงานเต็มรูปแบบที่ จ.พังงา ทำให้เกิดเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และจากการทำงานร่วมกับชาวบ้าน ทำให้ภาคประชาชนเกิดความเข้มแข็งระดับหนึ่งที่จะดูแลพื้นที่ เฝ้าระวังเมื่อมีคนเข้าไปบุกรุก สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที แล้วระงับไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งเมื่อชุมชนมีความรู้ มีข้อมูลอยู่ในมือ คนของภาครัฐก็ไม่กล้าทุจริต
"อย่างไรก็ตาม หากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล มักมีความพยายามทุ่มเงินเพื่อล้มคดี แต่อาจจะซื้อพยานบุคคลได้ ซึ่งมีหลายเหตุผลที่ทำให้กลับคำให้การหรือไม่ยอมมาเป็นพยานในชั้นศาล แต่การทำงานอย่างที่ทำที่ จ.พังงา สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยหลักฐานที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ และทีมงานของเราที่เงินซื้อไม่ได้" |