ศูนย์อนุรักษ์ที่ 5 จัดสัมมนานำเสนอแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี
ร่วมกับเครือข่ายฯ จัดการทรัพยากร
18 ม.ค.53
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.53 เวลา 09.30 น. ที่ห้องจามจุรี ร.ร.ภูเก็ตเมอร์ลิน ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 จ.ภูเก็ต กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนชายฝั่ง ในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน ครั้งที่ 17 โดยนายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ฯที่ 5 จ.ภูเก็ต กล่าวรายงาน และนายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนา การจัดสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ตลอดจนกำหนดแนวทางความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันอย่างยั่งยืน โดยมีองค์กรร่วมจัดงานสัมมนาฯ ประกอบด้วยองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน มูลนิธิอันดามัน มูลนิธิองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชน ชุมชน ผู้นำ องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน ประกอบด้วยกลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มอนุรักษ์ ประชาชนทั่วไป การสัมมนาจัดระหว่างวันที่ 18-19 ม.ค. โดยมีผู้สนใจเข้าร่วม 200 คน
ในการนำเสนอปัญหาสถานการณ์ทรัพยากรชายฝั่งเริ่มจาก จ.สตูลมีปัญหาเรื่องอวนลาก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการกำหนดแนวเขตหวงห้ามอวนลากอวนรุนเข้ามาทำการประมงในบริเวณ 5,400 เมตรแล้ว แต่มีเรืออวนลากคู่เข้ามาทำประมงภายในเขตดังกล่าว และยังทำลายเครื่องมือประมงพื้นบ้านของชาวบ้าน เช่น ลอบปลาเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจึงเดินทางไปพบผู้ว่าราชการ จ.สตูล เพื่อผลักดันแก้ไขเรื่องแนวเขตหวงห้ามเรืออวนลากอวนรุน 5,400 เมตร
ส่วน จ.ตรัง ประสบปัญหาการล่าพะยูนจากเครื่องมือเบ็ดราวไว เพื่อนำพะยูนไปขาย มีการจัดทำเขตทะเล 4 บ้าน ในพื้นที่ประมาณ 24,000 ไร่ และกำหนดกฎระเบียบหวงห้ามการทำประมงด้วยเบ็ดราวไว เพราะการทำประมงด้วยเบ็ดราวไวจะทำลายพะยูน แต่กลับมีเรือประมงจากจังหวัดปัตตานีเข้ามาทำประมงด้วยเบ็ดราวไว หลายครั้ง ทางองค์กรชาวประมงพื้นบ้านเข้าไปตักเตือนแล้วและชุดเฉพาะกิจของบ้านน้ำราบและใบไม้เขียวได้เข้าจับกุม แต่ก็มีการปล่อยตัวคนผิดไป จากการจัดเก็บข้อมูลของกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าเรืออวนรุนเพิ่มขึ้นและทำลายเครื่องมือประมงพื้นบ้านจำนวนมาก การระเบิดปลาลดน้อยลง เครื่องมือไซพับเพิ่มขึ้นจำนวนมาก มีความเสียหายกับอวนปูอย่างรุนแรง มีสัตว์อนุรักษ์พะยูนและโลมาตาย จำนวนหลายตัว แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดำเนินการไขปัญหา
สุดท้าย จ.พังงา ได้รับผลกระทบเรื่องโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ที่ผ่านมามีการพูดถึงในข้อดีของการพัฒนา เช่น เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนจะมีอาชีพ มีเงิน ในความเป็นจริงประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว
ส่วนในวันที่ 19 ม.ค. เป็นการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดย ดร.ธนา ยิ่งเจริญ กองแผนงาน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อระความคิดเห็นการทบทวนการ จัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการโครงการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต่อไป |