homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

พบหญ้าทะเล 9 ชนิดที่อ่าวป่าคลอก ภูเก็ต

16 ม.ค. 53

            วันที่ 16 ม.ค. 53 เวลา 10.30 น. ที่ศูนย์อนุรักษ์และเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชายหาดท่าหลา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ทางศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งที่ 5 (จ.ภูเก็ต) ร่วมกับองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน ได้จัดกลุ่มสำรวจแนวหญ้าทะเลในบริเวณอ่าวป่าคลอกขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดวิธีการเก็บข้อมูลของสิ่งมีชีวิตในแนวหญ้าทะเลและการใช้เครื่องมือ จีพีเอส โดยมีผู้เข้าร่วมในการสำรวจในครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียน ชั้น ม.4 ร.ร.วีรสตรีอนุสรณ์  นักศึกษาปี 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต  เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ที่ 5 (ภูเก็ต) และนางสาวเพชรรุ่ง สุขพงษ์ จากองค์กรไอยูซีเอ็น ไทยแลนด์ โปรแกรมเมอร์  รวมจำนวน 27 คน

            ในการสำรวจในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 6 คน โดยมีวิธีการสำรวจดังนี้ 1.วางเส้นเทปในแนวตั้งฉากกับชายฝั่ง โดยเริ่มจากขอบด้านนอกของแนวหญ้าทะเลเข้าหาชายฝั่ง  2.การสุ่มสำรวจโดยการโยนโค้ดเด็ด ทั้งข้างซ้ายและขวาและอ่านค่าของหญ้าทะเลว่ามีความหนาแน่นคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ โดยจะเพิ่มที่ละ 5 % และพบสิ่งมีชีวิต เช่น หอยน้ำพริก ปูเสฉวน เป็นต้น ทำการจดบันทึกลงในสมุดบันทึก 3.จับค่าจีพีเอส และจดบันทึกทุกครั้ง โดยจะจดทุก ๆ 5 เมตร ในการประเมินความหนาแน่นของหญ้าทะเลจะต้องมีผู้ประเมินอย่างน้อย 3 คน เพื่อให้ได้ค่ากลาง 

            จากการสำรวจเบื้องต้นที่ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการพบหญ้าทะเลในอ่าวป่าคลอกจำนวน
9 ชนิด ดังนี้ 1.หญ้าใบมะกรูด 2.หญ้าเงาแคระ 3.หญ้าเงาใบเล็ก 4.หญ้าชะเงาเต่า 5.หญ้าคาทะเล 6.หญ้าชะเงาใบมน 7.หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย 8.หญ้ากุยช่ายเข็ม 9.หญ้ากุยช่ายทะเล อ่าวป่าคลอกมีพื้นที่ประมาณ 1,925 ไร่ตั้งแต่ปากคลองบางโรง ลงมาถึง แหลมยามู โดยกระจายอยู่ทั่วอ่าว พบหญ้าทะเลตั้งแต่ระยะ 200-1,300 เมตร และแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย อยู่ที่ บริเวณหาดเจ้าไหม และเกาะลิบง
จ.ตรัง

            สำหรับการใช้เครื่องมือ จีพีเอส เพื่อนำไปประกอบกับการทำการสำรวจแนวหญ้าทะเล ในการสำรวจสามารถทำได้ 4 แบบ 1.การสำรวจแบบเป็นตรง 2.การสุ่มสำรวจเป็นจุด 3.การใช้ภาพถ่าย 4.การใช้กล้องวีดีโอ ในการสำรวจในครั้งนี้เป็นการสำรวจแบบเป็นตรง จะมีอุปกรณ์ ดังนี้ 1.เส้นเทป 2.จีพีเอส 3.โค้ดเด็ด 4.สมุดจดบันทึก 5.สมุดภาพหญ้าทะเลแต่ละชนิดเพื่อนำไปเปรียบเทียบ

 

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: