homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

กลุ่มทุนยึดอันดามันปั่นกำไร เศรษฐกิจชุมชน ล่มสลาย
จับตา "ดีเอสไอ" ติดดาบภาคประชาชน

วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4169  ประชาชาติธุรกิจ หน้า 24

สถานการณ์การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ที่ดินของรัฐในพื้นที่จังหวัดอันดามันไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง เพราะที่ดินในย่านนี้ล้วน "เป็นเงินเป็นทอง" สร้างกำไรร่ำรวยมหาศาล อันดามันจึงกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการบุกรุกที่ดินของรัฐ และมีการทำลายป่าไม้และทรัพยากรทางทะเลอย่างรุนแรงจากกลุ่มทุนไทยและต่างชาติ ซึ่งสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน

เพราะความจริงแล้ว ปัญหาการแย่งชิงที่ดินระหว่างกลุ่มทุน นักการเมือง และ ชาวบ้านได้ก่อตัวเป็นคลื่นใต้น้ำรอวันปะทุในหลายพื้นที่ ขณะที่ภาครัฐซึ่งมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายกลับไมได้เป็น "ธงนำ" จึงกลายเป็นความล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรของชาติ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ป่าไม้ ชายหาด และทรัพยากรทางทะเล

นอกจากเป็นปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินของรัฐและทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีมิติในเรื่องผลกระทบต่อ "เศรษฐกิจชุมชน" อย่างชัดเจน เพราะบริเวณที่ถูกกลุ่มทุน ยึดครองส่วนใหญ่เป็นภูเขา ป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ หรือเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนในชุมชนใช้สำหรับการยังชีพร่วมกัน เช่น พื้นที่อ่าว ชายหาด และป่าชายเลน ซึ่งกำลังมีโครงการมารีน่ารุกคืบเข้าไปจับจองในจังหวัดภูเก็ต พังงา

กรณีตัวอย่าง เช่นที่บ้านย่าหมี หมู่ 3 ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา เป็นชุมชนชายฝั่งที่พึ่งพาการประมงพื้นบ้าน และที่สำคัญ บ้านย่าหมีเพิ่งได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประจำปี 2552 ซึ่งเป็นการรับรางวัลครั้งที่ 2 สำหรับความยั่งยืนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่อเนื่อง หลังจากคว้ารางวัลไปเมื่อปี 2545

พร้อม ๆ กับรางวัลลูกโลกสีเขียว วันนี้ชาวบ้านย่าหมีที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องผืนป่าและท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและ รายได้ของชุมชน กำลังถูกบริษัท นาราชา จำกัด ซึ่งมีโครงการที่จะสร้างมารีน่า หรือท่าเทียบเรือสำราญที่อ่าวคลองสน บ้านย่าหมี ฟ้องดำเนินคดี 17 คน ข้อหาร่วมกันบุกรุก ลักทรัพย์

กรณีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สั่งฟ้องกลุ่มทุนข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า คดีอยู่ที่อัยการคดีพิเศษ ว่าจะสั่งฟ้องต่อศาลหรือไม่ ซึ่งผู้ต้องหาได้ขายที่ดินบริเวณอ่าวคลองสน บ้านย่าหมีให้บริษัท นาราชา จำกัด โดยมีแผนลงทุนโรงแรม บ้านพักตากอากาศ และมารีน่า มูลค่าหลายพันล้านบาท

กลไกสำคัญที่ทำให้การบุกรุกที่ดินของรัฐ เกิดจากข้าราชการบางคนร่วมมือกับกลุ่มทุนออกเอกสารสิทธิ ที่ผ่านมาจึงพบปัญหา ส.ค.1 บิน หรือ ส.ค.1 บวมเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งทำกันเป็นขบวนการเชื่อมโยงกันในฝั่งอันดามัน

สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือแหล่งข่าวในกระทรวงมหาดไทยระบุว่า ปัจจุบันมีโฉนดทั่วประเทศประมาณ 30 ล้านฉบับ ซึ่งไม่มีใครยืนยันได้ว่า "ที่มา" ของโฉนดชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดหรือไม่

ขณะที่กลุ่ม "เจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมือง" ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดิน ก็ยังค้างอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประมาณ 3-4 พันเรื่อง และใกล้จะหมดอายุความหลายคดี นั่นคือความล่าช้าในการเช็กบิล ผู้กระทำผิด

นอกจากนี้โฉนดที่ดินที่ถูกตรวจสอบแล้วว่าออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ค้างอยู่ที่กรมที่ดิน รอการเพิกถอนอีกหลายสิบแปลง

"ขบวนการทุจริตออกเอกสารสิทธิเอาที่ดินของรัฐ หรือที่ดินของคนทั้งประเทศไปนั้นง่าย แต่การที่จะไปทวงคืนมานั้นยาก" พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งข้อสังเกต พร้อมทั้งระบุว่า การ ส่งเสริมการท่องเที่ยวกลับเป็นการทำลายการท่องเที่ยวเสียเอง

ที่สำคัญ หัวใจในการดูแล ทรัพยากรธรรมชาติอยู่ที่ "ภาคประชาชน" แต่วันนี้ชาวบ้านอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไร้ที่พึ่ง

โฟกัสไปที่บทบาทของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เปิดมิติใหม่ นอกจากใช้มาตรการปราบปรามดำเนินคดีแล้ว ได้หันมาให้ความสำคัญงานป้องกันอาชญากรรมทางเศรษฐกิจด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการสร้างแนวร่วมภาคประชาชนขึ้นในฝั่งอันดามัน

ปัจจุบันดีเอสไอมีคดีพิเศษในพื้นที่อันดามัน ได้แก่ 1) คดีบุกรุกป่ากะปง จ.พังงา เนื้อที่ 8,700 ไร่เศษ คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล  2) คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและที่ดินของรัฐ ในพื้นที่ อ.เกาะยาว จ.พังงา เนื้อที่ 1,500 ไร่ จำนวน 25 คดี ศาลตัดสินแล้ว 1 คดี ลงโทษจำคุกนายอำเภอเกาะยาว 7 ปี และอัยการสั่งฟ้องอีก 6 คดี ที่เหลืออยู่ระหว่างพิจารณา 3) คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด บ้านย่าหมี อ.เกาะยาว จ.พังงา บริเวณสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า 4) คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ใน ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ เนื้อที่ 100 ไร่เศษ ส่ง ป.ป.ช.แล้ว 5) คดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติหาดท้ายเหมือง เขาลำปี อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา บริเวณเขาหน้ายักษ์ 500 ไร่ อยู่ระหว่างการสอบสวน 6) คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติใน ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ อยู่ระหว่างการสอบสวน และ 7) คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพนมเบญจา จ.กระบี่
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงอีก เช่น 1) การบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่บ้านหล่อยูง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา 2) การบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน ที่ชุมชนบ้านกู้กู ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต 3) การบุกรุกป่าชายเลน ที่ชุมชนบ้านในไร่ จ.พังงา 4) การบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่เกาะนกคอม อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ และ 5) การบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ที่ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท

ในส่วนงานป้องกันนั้น ได้แก่ โครงการคืน ส.ค.1 ให้ประชาชนในพื้นที่ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการตรวจสอบ สิทธิกับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบสถานภาพของ ส.ค.1 เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำ ส.ค.1 ไปใช้ออกโฉนดในพื้นที่สงวนหวงห้ามที่มิใช่ตำแหน่งของ ส.ค.1 ดังกล่าว

ขณะนี้ตรวจสอบได้ 120 แปลง ส่วนในพื้นที่ อ.เกาะยาว ดำเนินการได้แล้ว 700 แปลง จากทั้งหมด 800 แปลงเศษ

เป้าหมายต่อไป คือจัดตั้งคณะทำงานภาคประชาชนด้านการมีส่วนร่วมในการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ.พังงา ต้องจับตาดูผลสำเร็จก้าวต่อไป

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: