จับตา DSI กับการแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าไม้ที่ดินของรัฐ (ตอน 2)
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16-28 กุมภาพันธ์ 2553
การบุกรุกทำลายป่าไม่ที่ดินของรัฐและประชาชนถือได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมในรูปแบบหนึ่ง
ในช่วง 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่กระแสการท่องเที่ยวตื่นตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วและไร้ทิศทาง ส่งผลให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทะเลทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจอย่างมาก เช่น การสร้างสิ่งปลูกสร้างในทะเลทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งและทำลายปะการังน้ำตื้น หรือการบุกรุกพื้นที่ของรัฐและประชาชนและดำเนินการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ อย่างเช่นที่นายสมนึก ชำนินา ตัวแทนภาคประชาชน จ.พังงา ได้บอกเล่าให้ฟังคำต่อคำว่า
วันนี้กรณีของพังงามีความเดือดร้อนมากที่สุดคือกรณีปัญหาบุกรุกที่ดินที่ป่าสงวนแห่งชาติของรัฐ และบุกรุกทางทะเล โดยกลุ่มทุนที่มีทรัพย์สินมหาศาล ที่บุกรุกทะเลเพื่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ ทำให้ชุมชนไม่มีที่ทำมาหากิน แบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิของชุมชน เพราะทะเลเป็นที่สาธารณะทุกคนมีสิทธิใช้ประโยชน์ได้ ส่วนกรณีปัญหาบุกรุกที่ดินป่าสงวนฯ ของรัฐและการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ หรือเรียกว่า สค.บิน หรือ ดินบวมหรือ ดินพอก เช่น จากมีเอกสารสิทธิ 10 วา เปลี่ยนเป็น 30 วา ชาวบ้านไม่สามารถแก้ไขเองได้ พอเข้าไปร้องเรียนในหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบโดยตรง คอยแต่ผลัดวันประกันพรุ่งไม่ยอมรับความเป็นจริง ความจริงในวันนี้ ที่ดิน ที่สูญหายส่วนใหญ่โดยกลุ่มทุน ชาวบ้านพยายามทวงเอากลับมาเป็นของสาธารณะ เป็นของแผ่นดิน แต่กลับโดนข่มขู่ หรือการฟ้องร้องเพื่อให้ชาวบ้านกลัว เช่น ชาวบ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา รวมกันปกป้องป่าสงวนแห่งชาติ แต่กลับโดนนายทุนฟ้องร้องดำเนินคดี ชาวบ้านเป็นคนอนุรักษ์รักษาทรัพยากรมองเห็นค่าในทรัพยากรมากที่สุด แต่โดนดำเนินคดีถามว่าสมควรแล้วหรือ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วชาวบ้านจะไปพึ่งใครได้
ถามช้าๆ อย่างชัดๆ ว่า ชาวบ้านเป็นคนอนุรักษ์รักษาทรัพยากรมองเห็นค่าในทรัพยากรมากที่สุด แต่โดนดำเนินคดีถามว่าสมควรแล้วหรือ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วชาวบ้านจะไปพึ่งใครได้
แม้ว่าจะยังไม่มีใครตอบคำถามได้ แต่ นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ สมาชิกที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและผู้อำนวยการมูลนิธิอันดามัน ได้ขยายต้นสายปลายเหตุของการเกิดปัญหาบุกรุกที่ดินในปัจจุบัน
ประเด็นแรก เรื่องการพัฒนาพื้นที่พบว่า รัฐบาลมีการศึกษาและทางเลือกการพัฒนาที่ไม่ครอบคลุมสิ่งที่เกิดขึ้นใน เช่น จะทำโครงการแลนบริด แต่บังเอิญการการท่องเที่ยวบูม โครงการแลนบริดต้องวางไว้ ประเด็นที่ 2 รัฐบาลมีนโยบายไม่ชัดเจน พอรู้ว่าการท่องเที่ยวบูมแล้ว ไม่ได้มีการพูดเรื่องการจัดการทรัพยากรที่เป็นตัวส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะสิ่งที่พบตอนนี้ คือพัฒนาการท่องเที่ยวแบบโลภกระหายเอาเงินเป็นหลัก และจะไม่ยั่งยืน ตอนนี้ธุรกิจท่องเที่ยวกำลังทำลายตนเอง ทำลายป่า ทำลายทะเล เพราะทรัพยากรพวกนั้นเป็นฐานสำคัญในการท่องเที่ยว ประเด็นที่ 3 ในรายกรณี ในไร่ ป่าคลอก ยามู เกาะยาวใหญ่ เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายที่ไม่ชัดเจน ทำให้ส่วนราชการต่างๆ ทำงานแบบใช้ข้อกฎหมายแบบโยนกันไปโยนกันมา ไม่มีใครแก้ปัญหา ประเด็นที่ 4 เราต้องไปสนับสนุนให้ภาคประชาชนมีบทบาท โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นราษฎรอาสา ซึ่งช่วยงานราชการช่วยงานแผ่นดิน ควรจะมีมาตรการดูแลคุ้มครอง เรื่องนโยบายของภาครัฐที่ชัดเจนและครอบคลุมในทิศทางที่ถูกต้องร่วมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จะมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการช่วยดูแลทรัพยากรในท้องถิ่นของเรา
เห็นเมื่อเอาเรื่องราวของแต่ละคนมาเรียงต่อกัน เหมือนกับการต่อจิ๊กซอ ภาพปัญหาต่างๆ ที่อยู่รายล้อมรอบตัวเราต่างเชื่อมโยงถึงกัน
เวทีสาธารณะถึงช่วงสำคัญ ยังไม่จบเพียงแค่นี้ โปรดอ่าต่อฉบับหน้า
สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |