เวทีสมัชชาสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน 2553
27 ก.พ. 53
สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านไทย จัดเวทีสมัชชาสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านไทย นวัตกรรมการจัดการทรัพยากรของชาวประมงพื้นบ้าน กับสถานการณ์และความท้าทายที่ต้องเผชิญ เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 53 ที่ชายหาดท่าสูงบน ม.4 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช องค์กรร่วมจัดประกอบด้วยสมาคมรักษ์ทะเลไทย องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน(ARR) มูลนิธิอันดามัน(SAN) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการฟื้นฟูชุมชนประมงพื้นบ้านอันดามัน(กระบี่) OXFAM GB ศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนอันดามัน โครงการดับบ้านดับเมือง-เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และอบต.ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนายอภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารตำบลท่าศาลา เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และนายสะมะแอ เจะมูดอ เลขาธิการสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมีนางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง ร่วมเป็นประธานเปิดงานสมัชชาสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จากเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ 13 จังหวัด
งานสมัชชาฯ ครั้งนี้ มีกำหนดสามวันประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงาน เช่น กระบวนการสร้างข้อบัญญัติท้องถิ่น การจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชนในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น เนื้อหาสถานการณ์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เช่น ข้อระเบียบกฎหมายต่างๆ และสุดท้ายคือการระดมความคิดของผู้เข้าร่วมในการทำงานร่วมกันในอนาคต ตลอดจนการเดินขบวนรณรงค์ในวันสุดท้าย
นายอภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารตำบลท่าศาลา กล่าวว่า ประมงพื้นบ้าน ถือว่าเป็นชาวประมงที่ทำมากินวันต่อวัน อาหาร สด สะอาด อร่อย นอกจากนี้ทุกชีวิตของชาวประมงฝากและแขวนไว้กับเรือลำน้อย และต้องเลี้ยงดูอีกหลายชีวิตที่บ้าน ท้องทะเล คือ ที่พึ่งสำหรับทุกคน องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา และพี่น้องชาวประมงที่นี่ จึงทำงานควบคู่กันมาตลอดในเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง จนมีสโลแกนที่ว่า คืนชีวิต ให้ทะเล
พื้นที่ตำบลท่าศาลา มีพื้นที่ติดชายทะเล 8 หมู่บ้าน จาก 15 หมู่บ้าน มีหน้าท่าติดชายทะเล 12 กิโลเมตร ประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 60 ประกอบอาชีพประมง ดังนั้น ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่ง คือ หม้อข้าวหม้อแกงของคนที่นี่ แต่ปัญหาก็คล้ายๆ กับทุกพื้นที่ คือ ถูกเรือประมงพาณิชย์รุกราน โดยเฉพาะ เรือคราดหอยลาย เรือลากคู่ ทำลายเครื่องมือประมงไปจำนวนมาก อีกทั้งทำลายทรัพยากรอย่างมหาศาล โดยเรือเหล่านี้ล้วนเป็นเรือต่างถิ่น
จนในปีที่ผ่านมา ได้ร่วมจับมือแข็งขันกับพี่น้องเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ชุดเฉพาะกิจศรีวิชัยของอำเภอท่าศาลาที่ต้องออกปราบปรามอย่างหนัก และได้ทำงานร่วมกับหลายๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคนักพัฒนาเอกชน และประชาชน จนสามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นทางทะเลเป็นที่แรกของประเทศไทย
ทั้งนี้อธิบดีกรมประมงได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในการที่จะบริหารจัดการทรัพยากรหาใช่ตัวทรัพยากรไม่ แต่เป็น คน ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ต้องมีความรู้ ความ สามารถเท่านั้น แต่ยังต้องมีคุณธรรม มีวินัย มีความซื่อตรง และที่ขาดไม่ได้ คือ รู้จักเสียสละ สิ่งเหล่านี้ดิฉันได้เห็นครบถ้วนอยู่ในตัวของทุกท่านที่อยู่ ณ ที่นี้แล้ว ดิฉันจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้นำคุณสมบัติเหล่านี้มาช่วยกันในการพัฒนาและ แก้ไขปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
งานสมัชชาฯ ครั้งนี้เริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 1 มี.ค. 53
|