homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ล้มเวที

9 มี.ค. 2553

http://www.siangtai.com/upload/newssouth/thumbnail/14880-3267.gif  เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 8 มี.ค. ที่บริเวณสนามหน้า อบต.กลาย ม.3 ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ได้จัดให้การประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติการงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด โดยมีนายบุญญวัฒน์ ชีช้าง รอง ผวจ.นครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดการประชุมในครั้งนี้ และมีบรรดานักวิชาการนำโดย ผศ.วิลาสินี อโนมะศิริ พร้อมนักวิชาการนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆจำนวน 7 คนมาร่วมแสดงความคิดเห็นทำประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ และมีชาวบ้านในพื้นที่ในตำบลกลายรวมทั้ง ชาวบ้านบ้านบางสาร ม.3 ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่โครงก่อสร้างของบริษัทเชฟรอนฯ,ชาวประมงพื้นบ้านจาก อ.ท่าศาลา,อ.สิชล,ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง,อ.ขนอม,และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงจาก อ.สิชล อ.ท่าศาลา ประมาณ 500 คนเดินทางมาฟังการทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้อย่างคึกคัก รวมทั้งผู้สังเกตุการณ์จากหน่วยงานต่างๆที่เดินทางไปร่วมสังเกตุการณ์ในครั้งนี้จำนวนมากเช่นกัน รวมทั้งมีกำลังตำรวจทั้งในและนอกเครืองแบบของ สภ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราชภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ประเสริฐ นาคคง รอง ผกก.ป.สภ.ท่าศาลา จำนวนหลายสิบนายไปคอยรักษาความสงบบริเวณดังกล่าวตลอดเวลา

ปรากฏว่าหลังจาก ผศ.วิลาสินี อโนมะศิริ และกลุ่มวิชาการและนักวิจัยได้พยายามพูดแจ้งให้ชาวบ้านในที่ประชุมได้รับทราบถึงผลดีผลเสียต่างๆของ การย้ายโครงการศูนย์สนับสนุนบริษัทเชฟรอนจาก จ.สงขลามาก่อสร้างที่บ้านบางสาร ม.3 ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ได้มีแกนนำกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงก่อสร้างของบริษัทเชฟรอนต่างผลัดเปลี่ยนกันขึ้นพูดโจมตี การก่อสร้างบริษัทเชฟรอนในพื้นที่ ม.3 ต.กลาย อ.ท่าศาลาว่ามีความไม่เหมาะสมหลายประการ

นายมานะ ช่วยชู แกนนำชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่าบริษัทเชฟรอนเป็นโจรปล้นชาติชัดๆหวังเข้ามากอบโกย ผลประโยชน์ในพื้นที่อย่างเดียว และเมื่อเข้ามาแล้วจะทำให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านในเขต อ.ท่าศาลา อ.สิชล และพื้นที่ใกล้เคียงจะต้องได้รับความเดือดร้อนย่างแน่นอนเพราะบริษัทเชฟรอนเข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แหล่งอาหารบริเวณชายหาดและท้องทะเลอ่าวไทยอย่างแน่นอน พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านจะไม่สามารถประกอบอาชีพประมงต่อไปอีกได้เลยและก็อยู่ไม่ได้ในที่สุด แล้วพวกเราจะไปทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวที่ไหน เพราะฉะนั้นพวกเราประชาชนชาวตำบลกลายและใกล้เคียงทุกคนไม่ต้องการ ให้บริษัทเชฟรอนเข้ามาขอให้ออกไปได้เลยเราไม่ต้องการ

ตลอดเวลาที่บริษัทเชฟรอนเข้ามาดำเนินการสำรวจในพื้นที่ ต.กลายแทนที่จะมาให้ความรู้และข้อมูลต่างๆ กับประชาชนในพื้นที่ในเรื่องปิโตรเคมีต่างๆ ว่ามีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนหรือไม่ แต่บริษัทเชฟรอนกลับมาเที่ยวแจกของแจกขนมให้กับเด็กๆซึ่งพวกเราไม่ต้องการเลย นายมานะ กล่าวในที่สุดท่ามกลางเสียงโห่ร้องปรบมือด้วยความชอบใจ

ด้านนายสมพงศ์หรือเป้ ภู่ทรัพย์มี อายุ 49 ปี สมาชิก อบต.ม.9 ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ลุกขึ้นกล่าวว่า ตนขอยืนยันว่าตนและชาวบ้านในพื้นที่ ต.กลาย และใกล้เคียงจำนวนมากไม่ต้องการเอาบริษัทเชฟรอนเข้ามาในพื้นที่ ขอให้ออกไปเราไม่ต้องการเราจะต่อสู้คัดค้านจนถึงที่สุดเพราะชาวบ้านไม่ต้องการสูญเสียอาชีพการทำประมงพื้นบ้านไป ซึ่งพวกเรามีพื้นที่ทำมาหากินเพียงนิดเดียว บริษัทเชฟรอนจะมาเอาไปอีก เพราะฉะนั้นพวกเราไม่ต้องการบริษัทเชฟรอนและขอพวกเราที่ไม่เห็นด้วยลงชื่อไม่เอาไม่เห็นด้วยกับ บริษัทเชฟรอนที่จะมาก่อสร้างในพื้นที่บ้านบางสาร ม.3  ต.กลาย อ.ท่าศาลา เพื่อแสดงพลังของชาวตำบลกลายให้เห็นว่าไม่เอาเชฟรอน

ขณะที่ได้มีกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต,มหาวิทยาลัยหาดใหญ่จำนวน 100 คนได้เดินทางมาร่วมชุมนุมคัดการก่อสร้างบริษัทเชฟรอนที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลาในครั้งนี้ด้วย

จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านไม่เห็นด้วยกับก่อสร้างบริษัทเชฟรอนทั้งหมดโดยวอล์คเอาท์เดินออกจากที่ประชุม ไปชุมนุมบนถนนหน้าที่ทำการ อบต.กลาย ขึ้นเวทีท้ายรถกระบะปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงโจมตีบริษัทเชฟรอนต่างๆนานาและ อ่านแถลงการณ์คัดค้านการก่อสร้างบริษัทเชฟรอน ก่อนมีการจุดไฟเผาป้ายชื่อบริษัทเชฟรอนก่อนแยกย้ายสลายตัวในที่สุดเมื่อเที่ยงวันเดียวกัน

ด้านนายธนบดี รัศมิทัต ผจก.ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัทเชฟรอนกล่าวว่าปัจจุบัน บริษัทเชฟรอนฯมีศูนย์สนับสนุนปฏิบัติงานบนฝั่ง 2แห่งที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรีและอ.เมือง จ.สงขลา เพื่อส่งวัสดุอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้และอาหารไปให้ผู้ที่ปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งห่างจากฝั่งไป 200 เมตร ทำให้การทำงานไม่คล่องตัวจึงมีความจำเป็นต้องรวมศูนย์ทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยให้ได้ประสิทธิภาพและรวดเร็วและจากการศึกษาพื้นที่มาทั้งสิ้น 16 แห่งตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ถึงจ.สงขลา พบว่าพื้นที่ บ้านบางสาร ม.3 ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราชมีความเหมาะสมในเบื้องต้นมากที่สุดจึงเริ่มดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ตั้งแต่ปี 2551 ขณะนี้โครงการยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างใดๆทั้งสิ้นเพราะยังอยู่ในช่วงศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ เท่านั้น และส่วนหนึ่งของการทำประชาพิจารณ์ในวันนี้ก็จะนำเสนอผู้บริหารเพื่อพิจารณาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: