แถลงการณ์ฉบับที่ 1
เชิญร่วมรณรงค์ หยุดอวนลาก อวนรุน รักษาเศรษฐกิจอันดามัน ปีละ 50000 ล้าน
ถึง พี่น้องสื่อมวลชน พี่น้องประชาชน และชาวประมงพื้นบ้านทุกท่าน
ระยะเวลากว่าสี่สิบปี ที่ประเทศไทยใช้เครื่องมือประมงอวนลากและอวนรุนจับสัตว์น้ำ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำประมงแบบทำลายล้าง ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงพื้นบ้านทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามันเป็นอย่างมาก เพราะทรัพยากรสัตว์น้ำและทรัพยากรใต้ท้องทะเล เช่น ปะการัง หญ้าทะเล แหล่งที่อยู่สัตว์น้ำต่างๆเสื่อมโทรมลง ลูกสัตว์น้ำตัวเล็กตัวน้อยถูกเครื่องมือกวาดล้างไปจำนวนมาก จากข้อมูลงานวิจัยของกรมประมงระบุชัดเจนว่าอวนลาก อวนรุน ได้จับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นปลาเป็ด มากกว่าร้อยละ 50
ที่ผ่านมาชาวประมงพื้นบ้านออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐก็ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในจังหวัดกระบี่นั้นมีมาตรการควบคุม กำหนดเขต และเงื่อนไขหวงห้ามอวนลากอวนรุน เดิมอยู่เช่นกัน แต่มาตรการเหล่านี้ถูกละเมิดฝ่าฝืนจากชาวประมงทำอวนลาก อวนรุนอยู่เสมอ จนปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับข้อมูล ข้อเท็จจริง และมีการประชุมปรึกษาหารือในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงจังหวัดกระบี่ร่วมพิจารณากำหนด จึงได้มีประกาศกำหนดแนวเขตหวงห้ามอวนลากอวนรุนเพิ่มเติมบางพื้นที่ ในจังหวัดกระบี่ ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2550 ขึ้น
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ชาวประมงอวนลาก จ.ภูเก็ต ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช ขอให้ เพิกถอนประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม 2550 ของจังหวัดกระบี่ เสีย โดยอ้างว่ากระทบสิทธิการทำประมงของตน และมีข้ออ้างอื่นๆที่จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงต่อศาล การฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศฯ ท้องที่จังหวัดกระบี่ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ชาวประมงอาวลากมิได้คำนึงถึงความเดือดร้อนและความยากลำบากในการทำมาหากินของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ไม่ได้สนใจว่าทรัพยากรทะเลจะเสื่อมโทรมเพียงใด มุ่งแต่ปกป้องสิทธิประโยชน์ของตน
ชาวประมงพื้นบ้าน จึงจำเป็นต้องรวมพลังเพื่อยืนยันถึงข้อเท็จจริง ความถูกต้อง โดยจะเรียนให้สื่อมวลชนและสาธารณชนทั้งได้ทราบในเบื้องต้นว่า เราจะมีมาตรการรณรงค์ในเบื้องต้น 2 ประการได้แก่
- จัดขบวนเดินพาเหรดรณรงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวตนของผู้ทุกข์ยากที่มีอยู่จำนวนมาก ในวันที่ 10 เมษายน 2551 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ณ ตลาดเมืองกระบี่ พร้อมทั้งยื่นหนังสือถึง รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- จะร่วมกันเข้าชื่อชาวประมงพื้นบ้านผู้ที่จะถูกผลกระทบ เข้าร้องสอดต่อศาลปกครอง ให้ได้ 2000 คน เพื่อจะได้เสนอข้อเท็จจริงต่อศาลอีกทางหนึ่งด้วย
ขบวนของธงสีฟ้าทะเล ของคนรักทะเลจะเต็มท้องถนนเมืองกระบี่อีกครั้ง ในวันพรุ่ง... การรวมพลังรณรงค์ครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความตั้งใจของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนชาวไทย ว่าจะสามารถผลักดันให้รักษามาตรการปกป้องดูแลฐานทรัพยากรของชาวไทยทั้งหมด ไว้ได้หรือไม่ จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมติดตามอย่างใกล้ชิด
ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน
เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดกระบี่
สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ และ พันธมิตร
ณ สะพานท่าเทียบเรือเจ้าฟ้า ริมน้ำเมืองกระบี่ |