ใครออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ? (1)
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16 - 30 เมษายน 53
20 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยเริ่มมีความรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจ และจุดขายด้านการท่องเที่ยวก็ตามติดๆ แม้ว่าบางเวลาเศรษฐกิจของประเทศจะตกต่ำ แต่สถานการณ์การท่องเที่ยวกลับเฟืองฟู โด่งดังเป็นพลุ...ใครๆ ก็อยากมาเที่ยวเมืองไทย
จากการโครงการ Visit Thailand Year มาถึง Amazing Thailand และปัจจุบันกลายเป็น Thailand Grand Sale เมื่อการท่องเที่ยวสามารถขายตัวเองทำเงินเข้าประเทศได้น้อยกว่าธุรกิจอื่น จึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลายเป็น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว พร้อมกันนั้นการ ขายที่ดิน จับจองที่ดิน เปลี่ยนมือจากคนท้องถิ่นไปสู่กลุ่มทุนทั้งในและต่างชาติอย่างเร็ว เพียงแค่กระพริบตา...การถ่ายโอนที่ดินก็เปลี่ยนไปถึง 3 มือแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ที่ติดกับทะเลจะเห็นได้ชัดเจนคือ จ.ภูเก็ต ในอดีตที่ดินที่อยู่บนเขา เห็นวิวทะเลไกลๆ จะขายได้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่นิยมความสะดวกและสบาย ความต้องการจึงตกลงที่ดินริมหาดทรายขาว ทะเลสีฟ้าครามจะมีราคาสูง ปัจจุบันความนิยมนั้นยังอยู่แต่ความต้องการของผู้ประกอบการและคนมาเที่ยวมีมาก ไม่ว่าที่ดินจะอยู่ส่วนไหนของเกาะภูเก็ตเป็นขายได้ทั้งหมด หรือลองดูในพื้นที่เกาะที่อยู่กลางอ่าวพังงา รอบล้อมด้วย 3 จังหวัด ภูเก็ต พังงา และกระบี่ นั่นคือ เกาะยาว
อ.เกาะยาว จ.พังงา ประกอบไปด้วย 2 เกาะ 3 ตำบล คือ ตำบลเกาะยาวน้อย 1 เกาะและตำบลเกาะยาวใหญ่และตำบลพรุใน 1 เกาะและมีขนาดใหญ่กว่า การขายที่ดินเปลี่ยนมือไปสู่นักลงทุนเริ่มตั้งแต่ก่อนยุคฟองสบู่แตก ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะผันผวนเช่นไร ที่ดิน เป็นทรัพย์สินที่ราคาไม่เคยตก!
ถ้าหากการซื้อ-ขายที่ดินถูกต้องตามครรลองครองธรรมที่ควรจะเป็น... ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน!!
ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ที่มีข่าวขอให้มีการตรวจสอบและรังวัดที่ดินใหม่ เพราะสงสัยว่าจะมีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ หรือกลุ่มชาวบ้านร้องเรียนว่ามีกลุ่มนายทุนบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ...ป่าต้นน้ำ ป่าสมบูรณ์อันเป็นสมบัติของชาติในความดูแลของรัฐ
หากยังนึกภาพการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบไม่ออก ขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น ที่หมู่บ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว นายส้าฝาด ห่วงผล และนายส้อหล้า ห่วงผล 2 คนพ่อลูกโดยบริษัทร่วมทุนต่างชาติฟ้องในข้อหา ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ (ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องของศาลจังหวัดพังงา) เพราะพ่อ-ลูกได้บอกข้อเท็จจริงกับใครหลายคนทั้งเจ้าหน้าของรัฐ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินเกาะยาว ตำรวจในพื้นที่ ที่สำคัญชาวบ้านในพื้นที่ต่างรู้ดี ว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของครอบครัวตนเอง โดยพ่อถือเอกสารสิทธิที่เรียกว่า ใบจอง แต่ปัจจุบันที่ดินของ 2 พ่อ-ลูก ได้กลายเป็นของบริษัทร่วมทุนต่างชาติและมีเอกสารสิทธิที่เรียกว่า โฉนดที่ดิน อย่างถูกต้องตามกฎหมาย!
หรือจะกล่าวว่า บริษัทร่วมทุนต่างชาตินี้ได้ออกเอกสารสารสิทธิครอบที่ดินของชาวบ้าน...บริษัทเองไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ เราต่างก็รู้ดีว่าหน่วยงานที่ออกเอกสารสิทธิได้นั่นคือใคร??
เราลองกลับไปตรวจสอบที่ดินและเอกสารสิทธิของเราดูไหม? ว่าที่ดินนั่นยังอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์อยู่หรือไม่?
เพราะวันดีคืนร้าย...โฉนดที่ดินที่คิดว่าเป็นของเราอาจจะกลายเป็นของ คนอื่นไปแล้ว...
ยังมีเรื่องราวอีกมาก โปรดติดตามฉบับหน้า
สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |