homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ชาวบ้านย่าหมีเผชิญหน้าบริษัทนาราชาจำกัด ในขบวนไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

หนังสือพิมพ์เสียงใต้ วันที่  18 มิ.ย 2553

http://www.siangtai.com/upload/newssouth/thumbnail/15660-9365.gif

จากกรณีเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2550 ชาวบ้านย่าหมี ในนามกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา จำนวนกว่า 30 คน ได้รวมตัวกันเข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าช่องหลาด” ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของชุมชน ภายหลังจากสังเกตเห็นมีการนำรถแบ็คโฮเข้าบุกรุกและทำการปรับสภาพพื้นที่ หลังจากนั้นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ชาวบ้านย่าหมี จำนวน 17 ราย ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจภูธรเกาะยาว จ.พังงา ในความผิดข้อกล่าวหา“ร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุขและร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร”


ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 17 มิ.ย.ชาวบ้านย่าหมีประมาณ 30 คน เดินขบวนเพื่อเป็นการให้กำลังใจร่วมกับแกนนำนักอนุรักษ์ฯบ้านย่าหมี จำนวน 17 ราย ที่ถูกบริษัท นาราชา จำกัด ฟ้องร้อง ในโอกาสที่ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยกลุ่มชาวบ้านทั้งหมดได้เดินขบวนพร้อมกับถือป้าย การได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เดินออกจากสวนสาธารณสมเด็จพระศรีนครินทร์จังหวัดพังงา เรียบถนนเขตเทศบาลเมืองพังงามุ่งหน้าไปยังประตูด้านหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ก่อนทำการละหมาดฮาญัติ เพื่อขอพรจากพระอัล เลาะห์ จากนั้นขบวนได้เดินมาถึงหน้าประตูทางเข้าศาลจังหวัดพังงา ทำการละหมาดอีกครั้ง ก่อนเดินเข้าไปยังห้องพิจารณาคดีบัลลังก์ที่5 โดยมีนายพศวัต จงอรุณงามแสง เป็นผู้พิพากษา ซึ่งการเผชิญหน้าในเวทีไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทางตัวแทนบริษัท นาราชา จำกัด ได้มีข้อเสนอ 4 ข้อ คือ โครงการสร้างท่าเทียบเรือ, โครงการขุดลอกทราย, โครงการสร้างเขื่อนกั้นคลื่น และสร้างรีสอร์ท ขณะที่ฝ่ายชาวบ้านเสนอ 7 ข้อ คือ 1.บริษัท นาราชา จำกัด ต้องไม่ไถ ถาง เปลี่ยนแปลงสภาพป่าเกินจากเขตใบจองของชาวบ้านที่รัฐจัดให้เดิม 2. ไม่สร้างท่าเทียบเรือส่วนตัวมารีน่าที่อ่าวคลองสน แต่ควรไปปรับปรุงท่าเทียบเรือสาธารณะที่มีอยู่เดิมเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน 3. หยุดปิดกั้นร่องน้ำและการถมทำลายแอ่งรับน้ำธรรมชาติในพื้นที่กรณีพิพาท 4. เปิดทางเดินสาธารณะ ( ซึ่งอยู่ในทางเดินในกรณีพิพาท ) ที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน 5. ทุกโครงการของบริษัท นาราชา จำกัด ที่จะดำเนินการในชุมชน ต้องผ่านความเห็นชอบของชาวบ้านก่อน 6. บริษัท นาราชา จำกัด ต้องเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าช่องหลาด” ป่าเกาะยาวใหญ่แปลงที่2 รวมทั้งแนวเขตพื้นที่ชายหาดสาธารณะ และ7. ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ครอบครองตามใบจองและนส.3 โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและชุมชน บริษัท นาราชา จำกัด ต้องเปิดพื้นที่ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ และยอมรับผลของการพิสูจน์ ขณะเดียวกันบริษัทฯต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ ทั้งนี้ จากผลการพิจารณาคดีครั้งนี้ ศาลชี้ว่าข้อเสนอของทั้ง 2 ฝ่ายยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ศาลจึงนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งต่อไป ในวันที่ 28 กันยายน 2553 เวลา 09.00 น.


นายหรม หยั่งทะเล หนึ่งในผู้ต้องหา กล่าวในเวลาต่อมาว่า ชาวบ้านย่าหมีได้ดำรงชีพด้วยการพึ่งพาทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่าและทะเล อันเป็นสิ่งที่พระองค์อัลเลาะห์ได้ประทานให้มา เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน ซึ่งเราก็ได้ปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระองค์มาอย่างเคร่งครัดตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน และจะปฏิบัติเช่นนี้ไปจนถึงวันสิ้นโลก จากการยึดถือตามแนวปฏิบัติดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านย่าหมีได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ถึง 2 ครั้ง เมื่อปีพ.ศ.2545 และปีพ.ศ.2552 ทำให้ชาวบ้านได้ตระหนักและหวงแหนทรัพยากรเป็นอย่างมาก การที่บริษัท นาราชา จำกัด ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน ในขณะที่ชาวบ้านได้เข้าไปดูสภาพความเสียหายของพื้นที่ป่าต้นน้ำจากการถูกบุกรุกทำลาย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพ จึงเป็นเรื่องที่ผิดหลักคำสอนของศาสนา ชุมชนจึงร่วมกันประชุมและได้มีข้อเสนอ 7 ข้อสำหรับให้บริษัท นาราชา จำกัด ได้ปฏิบัติ “ชุมชนบ้านย่าหมี ม. 3 ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ยังคงยืนยันว่าสิ่งที่ชุมชนได้ทำมา ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท นาราชา จำกัด มีจุดมุ่งหมายเพื่อเอาป่าสงวนแห่งชาติกลับคืนมาเป็นประโยชน์ของชุมชนและประเทศชาติต่อไปเท่านั้น” นายหรม หยั่งทะเล หนึ่งในผู้ต้องหา กล่าวในที่สุด

 

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: