ชุมชนชายฝั่งขอมีส่วนร่วมวางผังเมืองภูเก็ต
4 ก.ค.53
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.53 เวลา 09.30 น. โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยาร่วมกับเครือข่ายผังเมืองเพื่อสังคมและองค์การความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามันร่วมจัด งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการวางแผนคุ้มครองพื้นที่ของชุมชนจังหวัดภูเก็ตที่ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลาง จ.ภูเก็ต โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาจากชุมชนท้องถิ่นต่าง ประกอบด้วยเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลอง ชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านกู้กู เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากร ตำบลอ่าวป่าคลอก กลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านเกิด กลุ่มประมงพื้นบ้านมอแกลนแหลมหลา-ท่าฉัตรไชย เครือข่ายสิทธิคนจนภูเก็ต ชมรมสุขพัฒนาภูเก็ต และนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน รวม 40 คน
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยากล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานนี้ว่า เพื่อให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ภูเก็ตได้รับรู้และเข้าใจกระบวนการวางแผนคุ้มครองพื้นที่ทั้งในทางกฎหมายและแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อปฏิบัติการจัดทำผังเมืองและวางแผนการใช้ที่ดินเพื่อคุ้มครองพื้นที่ในเบื้องต้น และมีการปฏิบัติการต่อเนื่อง และให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ภูเก็ตฝั่งตะวันออกได้แผนงานการคุ้มครองพื้นที่มาขับเคลื่อนในระดับนโยบายของจังหวัดและประเทศ
กระบวนการสัมมนาเชิงปฏิบัติในวันนี้เริ่มด้วยการสรุปภาพรวมการลงพื้นที่ของคณะทำงานร่วมกับตัวแทนชุมชน หลังจากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 4 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่อ่าวฉลองประกอบด้วย 3 ตำบล คือ ต.ราไวย์ ต.วิชิตและ ต.ฉลอง 2.พื้นที่ ต.ไม้ขาว 3.พื้นที่ ต.รัษฎา และพื้นที่ ต.ป่าคลอก เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินการทำผังเมืองและวางแผนการใช้ที่ดิน
ผลการนำเสนอแนวทางวางแผนที่ดินจากทุกกลุ่มพบว่าในแบ่งที่ดินประเภทต่างๆ เช่น การที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยทุกประเภท ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ สมาชิกกลุ่มย่อยทุกกลุ่มเสนอว่าไม่ต้องการให้มีโครงการการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญกีฬา (มารีน่า) ไม่ให้มีการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและอุตสาหกรรม ให้มีการยอมรับและรับรองพื้นที่ป่าชุมชนของชุมชนในพื้นที่ๆ เป็นต้น
ส่วนทางด้านนายธนู แนบเนียรผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามันให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จัด 2 วัน คือวันแรกก็คือเมื่อวานนี้ คณะทำงานเดินทางลงพื้นที่ร่วมกับตัวแทนชุมชนต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต ไปดูพื้นที่อ่าวฉลอง อ่าวภูเก็ต อ่าวสะปำ อ่าวป่าคลอก พารา อ่าวแหลมหลา-บ้านเหนือ เพื่อศึกษาสภาพและการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรชายฝั่งด้านการ ท่องเที่ยว การขยายเมือง จะได้ทราบสภาพพื้นที่และขอบเขตของการทำผังเมืองและวางแผนการใช้ที่ดินและรู้ลักษณะเด่นของพื้นที่ที่นำมาวางผังเมืองและวางแผนการใช้ที่ดิน จากการเดินทางไปดูพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่พบว่าการกำหนดผังเมืองที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ชายฝั่งอย่างมาก ซึ่งประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกับการกำหนด และวางแผนการใช้ประโยชน์ของผังเมือง การเชิญกลุ่มคนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมกับการกำหนดและวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่จะลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นอนาคตและจะเกิด กระบวนการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย
|