homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

จดหมายเปิดผนึก

ใครเป็นผู้กำหนดการใช้ประโยชน์?

ประชาชนชาวภูเก็ตต้องมีส่วนร่วมวางแผนผังเมืองจังหวัดภูเก็ต

 

     พี่น้องชาวภูเก็ตที่รักทุกท่าน ทราบไหมว่าพื้นที่แต่ละตารางนิ้วที่ท่านยืน นอน อาศัย ทำการค้า ทำสวนยาง หรือกำลังจะเป็นที่อยู่อาศัยของต่างชาติอย่างถาวร เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ สถานที่ประชุมระดับโลก บ้านพักตากอากาศบนเขาสูงชันพร้อมท่าเทียบเรือสำราญ

     ทำไมพื้นที่ตรงนี้จึงกลายเป็นสถานที่ประชุมระดับโลกได้ ทั้งๆ ที่เป็นเขตอนุรักษ์เต่าทะเลแห่งเดียวของจังหวัดภูเก็ต?

     ทำไมพื้นที่เขตคุ้มครองทรัพยากรชายฝั่ง จึงมีการก่อสร้างโรงแรมระดับ 6 ดาว?

     นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมาการวางแผนทำผังเมืองของกรมโยธาธิการปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดการใช้พื้นที่  ผังเมืองจังหวัดภูเก็ตได้กลายเป็นเครื่องมือของคนที่แสวงหาผลประโยชน์ในจังหวัดภูเก็ตมากกว่าจะเป็นผังเมืองเพื่อคนภูเก็ตอย่างแท้จริง

     ผังเมืองที่ใช้ในปัจจุบันเป็น ผังเมืองรวมเกาะภูเก็ต พ.ศ. 2548 ซึ่งกำลังจะหมดอายุในปี 2553 นี้ จู่ๆ ก็มี ร่างผังเมืองภูเก็ตโผล่มาอีก 2 ฉบับๆ แรกคือ ร่างผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต ปี พ.ศ.ใดไม่ระบุ

และฉบับที่สอง ร่าง ผังเมืองรวมเกาะภูเก็ต ปี พ.ศ.ใดไม่ระบุเช่นกัน

     สรุปว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองจะใช้ร่างผังเมืองฉบับใดกันแน่?

     ผังเมืองทั้ง 2 ฉบับที่ไม่ระบุปี พ.ศ. นี้แตกต่างกันตรงไหน? หรือกรมโยธาธิการและผังเมืองมีจุดประสงค์ใดแอบแฝง? ถ้าเป็นเช่นนั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ส่อว่าไม่โปร่งใส และการเขียนชี้แจงในรายละเอียดพื้นที่แต่ละประเภทค่อนข้างคลุมเครือ เช่น ในพื้นที่ สีฟ้ามีเส้นทะแยงสีขาว หมายถึง ที่โล่งเพื่อนันทนาการและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล ในรายละเอียดเขียนว่า เว้นแต่โครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต ซึ่งจะทำให้เกิดการตีความที่คลุมเครือว่า เป็นการยกเว้นไม่ให้โครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต หรือ อาจตีความได้ว่าหากมีโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่านันทนาการ การรักษาสิ่งแวดล้อม สาธารณประโยชน์

     หลายปีมานี้จังหวัดภูเก็ตประสบกับปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรทั้งทางบก ชายฝั่งและทะเล เช่น การปล่อยให้มีการก่อสร้างบนภูเขาสูงชัน การก่อสร้าง ขุดและถมบริเวณเขตพื้นที่คุ้มครองชายฝั่งทำให้ตะกอนดินไหลลงสู่ทะเลทำให้ปะการังและหญ้าทะเลเสื่อมโทรมและตายในที่สุด ทั้งยังส่งผลกระทบไปสู่สัตว์ทะเลอนุรักษ์ เช่น เต่าทะเลหรือพะยูน นอกจากนี้ยังเผชิญกับปัญหาขยะล้นเกาะภูเก็ตอีกด้วย

     ไม่น่าเชื่อว่า “ภูเก็ต” เกาะที่สวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติพร้อมด้านการท่องเที่ยว แต่กลับมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก!   

     นั่นเป็นเพราะการวางผังเมืองที่เขียนข้อกำหนดอย่างคลุมเครือและไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด อีกทั้งสามารถตีความไปในทิศทางที่ทำลายชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ตลอดจนไม่ได้ใส่ใจและไม่ได้ให้ความสำคัญประเด็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้และพื้นที่คุ้มครองชายฝั่งทะเลอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติระดับโลก

     การวางผังเมืองที่ดีควรเริ่มจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เพราะประชาชนในพื้นที่รู้ดีว่าตรงไหนควรจะพัฒนาในทิศทางใด พื้นที่ตรงไหนควรเป็นพื้นที่อนุรักษ์หรือใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไร และรู้ดีว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวของชาวภูเก็ตต้องควบคู่ไปกับการดูแล จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

     ที่ผ่านมาการทำผังเมืองของจังหวัดภูเก็ต ปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และในครั้งนี้ พวกเราชาวภูเก็ตเป็นผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียจากการจัดทำผังเมือง ขอใช้สิทธิกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 66 , 67 และพรบ.สุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2550 มาตรา 11 ขอมีส่วนร่วมในการแก้ไขตามกฎหมายและการวางแผนผังเมืองจังหวัดภูเก็ต เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ของชุมชนท้องถิ่นและเพื่อการพัฒนาภูเก็ตที่ยั่งยืนต่อไป 

 

ด้วยจิตคารวะของการมีส่วนร่วม

สถาบันประชาคมจังหวัดภูเก็จ

องค์กรชุมชนชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต

กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรจังหวัดภูเก็ต

กลุ่มอนุรักษ์เต่าทะเลบ้านไม้ขาว จ.ภูเก็ต

กลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านเรา ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต

องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: