เครือข่ายองค์กรชุมชนชายฝั่งภูเก็ตยื่นขอแก้กฎกระทรวงผังเมืองฯ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 สิงหาคม 2553
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชนชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ขอแก้ไขเพิ่มเติมกฏกระทรวงผังเมืองรวมเกาะภูเก็ต และร่างกฏกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต หวั่นกระทบชุมชน
วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ตัว แทน เครือข่ายองค์กรชุมชนชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนองค์กรชุมชนชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์เต่าทะเลบ้านไม้ขาวจังหวัดภูเก็ต กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรจังหวัดภูเก็ต กลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านเราตำบลป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต ชมรมภูเก็ตสุขพัฒนา สถาบันประชาคมจังหวัดภูเก็จ และองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน นำโดย นายธนู แนบเนียร ตัวแทนองค์การความร่วมมือ เพื่อการฟื้นฟูทรัพย์พยากรธรรมชาติอันดามัน ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงผังเมืองรวมเกาะภูเก็ต พ.ศ.2548 และ (ร่าง) กฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ..... ให้กับนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผ่านทางนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
นายธนูกล่าวว่า ตามที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมผังเมืองรวมเกาะภูเก็ต พ.ศ.2548 และ(ร่าง) กฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ในระหว่างการวินิจฉัยและพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกา ทั้งนี้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเขตผังเมืองรวมทั้ง 2 ฉบับ
ในนามเครือข่ายองค์กรชุมชนชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้าน กลุ่มกิจกรรมที่ดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง การป้องกันและเฝ้าระวังการบุกรุกทำลายป่า ที่ดิน ที่สาธารณะของรัฐ การแก้ไขปัญหาและการลดความขัดแย้งของชุมชนและสังคม อีกทั้งทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สถาบันวิชาการ องค์กรเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสมาชิกภายในเครือข่ายองค์กรชุมชนมาโดยตลอด ขอใช้สิทธิ์ร้องแก้ไขตามกฎหมายที่กำหนดและตามสิทธิกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 66, 67 และพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 11
ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์โดยรวมของชุมชนท้องถิ่น และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องสมดุล หรือเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและสาธารณชนทั่วไป และเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปกป้องพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปกป้องวัฒนธรรม สังคม ประเพณีที่มีคุณค่าและดีงาม
นายธนูยังได้กล่าวต่อไปว่า จากการเปรียบเทียบการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งมีการกำหนดเป็นประเภทต่างๆ ในร่างฉบับใหม่นั้น พบว่ามีการใช้ข้อกำหนดการใช้ที่ดินแต่ละสีเหมือนกันทั้งจังหวัด เช่น สีเหลือง มีข้อกำหนดเหมือนกันในทุกพื้นที่ ที่เป็นชุมชนพักอาศัยหนาแน่นน้อย แต่ลักษณะชุมชนในแต่ละพื้นที่ต่างกัน โดยเฉพาะระหว่างชุมชนในเมืองกับชุมชนนอกเขตเมืองทำให้เกิดปัญหาความไม่เหมาะ สมกับสภาพข้อเท็จจริง
การกำหนดให้มีการพัฒนาการจัดสรรที่ดินเป็นบ้านเดี่ยว ในพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ รวมทั้งการให้ข้อยกเว้นให้มีการอยู่อาศัยประเภทอาคารอยู่อาศัยรวม ในระยะ 1,000 เมตร จากชายฝั่งทะเล ไม่มีการจำแนกเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมเป็นบริเวณไป จะมีผลทำให้ที่ดินเอกชนในลักษณะนี้สามารถพัฒนาการใช้ที่ดินเพื่อกิจกรรมดัง กล่าวได้ ในพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ ในผังที่กำหนดไว้ทั่วเกาะ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดผลตามเจตนาของการใช้ประโยชน์หลักเพื่อการคุ้มครองดูแล รักษาป่า ต้นน้ำลำธารและธรรมชาติ เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ การกำหนดการใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว นันทนาการ ท่าเรือ ควรมีการจำแนกพื้นที่ที่เหมาะสมที่กำหนดเป็นข้อให้และพื้นที่ซึ่งเป็นข้อ ห้าม และระบุประเภทกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ชัดเจน เพราะหากมีกิจกรรมท่องเที่ยวบางอย่าง โดยไม่มีการจำกัดประเภทและพื้นที่ก็จะมีผลกระทบต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวด ล้อมและการประมงได้
อย่างไรก็ตาม นาย ธีระยุทธกล่าวว่า ให้ตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วย สำนักงานจังหวัดภูเก็ต โยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต และตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายพิจารณาข้อเสนอที่ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขว่ามีส่วน ใดที่แตกต่างจากที่มีอยู่ในร่างฯ แล้ว จากนั้นก็ให้รวบรวมประเด็นเสนอผ่านทางจังหวัด เพื่อจัดทำเป็นคำร้องนำเสนอขอแก้ไข ต่อคณะกรรมการผังเมืองพิจารณาต่อไป |