homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

กรีนพีซส่งเรือ “เรนโบว์วอร์ริเออร์” เยือนนครศรีฯชักธงต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์?

ผู้จัดการ   16/09/2553

นครศรีธรรมราช - กรีนพีซเตรียมขึ้นฝั่งนครศรีฯ ร่วมภาคประชาชนต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังข่าวสะพัดว่อน เมืองคอนถูกเลือกเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ - โรงไฟฟ้าถ่านหินจ่อผุดหัวไทรแน่นอนแล้ว

วันนี้ (16 ก.ย.53) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีกำหนดการที่เรือธงเรนโบว์วอร์ริเออร์จะเดินทางมาทำกิจกรรมในหาดคอเขา ต.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ในการปฏิบัติการรณรงค์ต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และร่วมกิจกรรมถอดปลั๊กนิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินในเร็วๆ นี้

เรือธงเรนโบว์วอร์ริเออร์มีประวัติเป็นเรือธงขององค์กรกรีนพีซสากล ซึ่งเรือดังกล่าวประจำการอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงจะมีอายุครบ 10 ปีในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นจะมีการปลดระวาง โดยในระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน 2553

นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว แกนนำกลุ่มศึกษาผลกระทบนโยบายสาธารณะ เปิดเผยว่าในส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น เราเฝ้าติดตามจากข้อมูลที่นำไปแสดงในการประชุมที่กรุงเวียนนา เมื่อไม่นานมานี้ พบว่าใน ต.ทุ่งใส อ.สิชล มีลำดับผลคะแนนที่สูง ดังนั้น พื้นที่นี้จึงอาจเป็นพื้นที่หมายตา ซึ่งการรณรงค์แสดงถึงพิษภัย และการเข้าร่วมรณรงค์ของกรีนพีซ จึงเกิดขึ้นโดยมีกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อการต่อต้านอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีองค์กรระดับโลกเข้าร่วมด้วย

นายธารา บัวคำศี สมาชิกกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า การเดินทางไปยังอ่าวทุ่งใส อ.สิชล นครศรีธรรมราช เป็นการทำกิจกรรมของกรีนพีซในการสนับสนุนภาคประชาชนร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นในการเคลื่อนไหว แสดงให้เห็นถึงแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐในเรื่องของการใช้พลังงานถ่านหิน พลังงานนิวเคลียร์ นำไปสู่การโยงให้เห็นถึงแผนใหญ่ของรัฐบาลในเรื่องนิวเคลียร์และถ่านหิน และทางอื่นๆ ที่กำลังสร้างความขัดแย้งในพื้นที่

“ขณะเดียวกันเป็นการตั้งคำถามว่าทิศทางการพัฒนาพลังงานของรัฐควรไปในทิศทางใด เช่นเดียวกับมาบตาพุด หรือแม่เมาะ หรือที่อื่นๆที่เป็นตัวอย่างและบทเรียนที่สำคัญของประชาชน กรีนพีซจะเข้าไปแลกเปลี่ยนประเด็นกัน นอกจากนั้น เราจะนำเสนอในเรื่องความเสี่ยงของการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อร่วมกันปกป้องพื้นที่”นายธารากล่าว

สมาชิกกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายนี้ยังกล่าวต่อว่า ทั้งเรื่องของถ่านหินและนิวเคลียร์ เป็นความมั่นคงทางพลังงานที่ผ่านมาเราก็มีตัวอย่างที่แม่เมาะ มาบตาพุดให้เห็นกันแล้ว เป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่เอาคืนมาไม่ได้ ส่วนการที่จะบอกว่าถ่านหินในปัจจุบันเป็นถ่านที่สะอาด มีมลพิษน้อย มีการจัดการควบคุมที่ดี นี่คือการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น เรื่องจริงความมั่นคงทางพลังงานที่ว่า ต้องพึ่งพาการนำเข้าถ่านหินมาจากต่างประเทศ มั่นคงตรงไหน ถ่านหินที่นำมามลพิษน้อยกว่าจริง แต่มากในเรื่องปริมาณ ไม่มีถ่านหินในโลกนี้ ที่ไหนสะอาด

สำหรับความเคลื่อนไหวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินนั้น ล่าสุดมีการตั้งศูนย์ประสานงานขึ้นใน 2 อำเภอคือ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา โดยมีการจัดตั้งฐานมวลชนเพื่อการสนับสนุนในหลายรูปแบบ ทั้งการสนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการต่างๆ การสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีบทบาทกับมวลชนในพื้นที่ การสนับสนุนกิจกรรมด้วยงบประมาณ หรือการจัดพาสื่อมวลชนไปพักผ่อนทำกิจกรรมในหลายแห่ง

รวมไปถึงการเดินทางไปทัวร์ยังต่างประเทศ ผ่านทางทีมวิศวกรซึ่งทาง กฟผ.ได้จัดส่งบุคลากรและวิศวกร ที่มีบ้านเกิดในพื้นที่นครศรีธรรมราชลงมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ส่วนในภาคประชาชนนั้นมีการต่อต้านอย่างเข้มแข็งขึ้นทุกขณะ

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: