นักอนุรักษ์บ้านย่าหมียืนยันนายทุนต้องคืนป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาดกลับมาสู่รัฐและชุมชน
28 ก.ย.53
คดีที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากเมื่อกลางเดือน ธันวาคม 2550 กลุ่มอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติบ้านย่าหมี ตำบลเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา จำนวนกว่า 30 คนรวมตัวกันเข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด ที่เป็นป่าต้นน้ำของชุมชนหลังจากได้สังเกตเห็นมีการนำรถแบ็คโฮเข้ามาบุกรุก และถางไถ ปรับสภาพพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หลังจากนั้นต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ชาวบ้านย่าหมี จำนวน 17 ราย ได้รับหมายเรียก เป็นผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจภูธรเกาะยาวในข้อหาร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการ ใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร และกลุ่มอนุรักษ์บ้านย่าหมีได้ขึ้นศาลจังหวัดพังงา ที่ไต่สวนมูลฟ้องและไกล่เกลี่ยมาแล้วเมื่อปี 2552 และกลุ่มอนุรักษ์ได้มีข้อเสนอต่อศาลขอให้บริษัท นาราชา จำกัด ปฏิบัติตามข้อเสนอของชุมชน 7 ข้อ เรื่องให้บริษัท นาราชา จำกัดคืนป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาดและเป็นป่าต้นน้ำแก่รัฐและชุมชน
ในวันนี้ (28 ก.ย.53) เมื่อเวลา ประมาณ 09.30น. กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ที่ตกเป็นจำเลย จำนวน 17 ราย พร้อมด้วยญาติพี่น้องจากบ้านย่าหมีและเครือข่ายองค์กรชุมชนชายฝั่งภูเก็ต-พังงา จำนวน 40 คน ร่วมเดินขบวนและให้กำลังใจกับแกนนำนักอนุรักษ์บ้านย่าหมีที่ถูกบริษัท นาราชา จำกัด ฟ้องร้องในข้อ หาร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร
กลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้านทั้งหมดได้เดินขบวนพร้อมถือป้ายที่เขียนข้อความว่า “บ้านย่าหมี หมู่บ้านรางวัลลูกโลกสีเขียว 2 ครั้ง” โดยเริ่มเดินจากบริเวณสวนสาธารณสมเด็จศรีนครินทร์เดินเรียบถนนทางหลวงเพื่อมุ่งหน้าไปยังศาลจังหวัดพังงา เนื่องจากทางศาลจังหวัดพังงานัดไกล่เกลี่ยที่ห้องพิจารณาคดีบัลลังก์ที่ 2 โดยมีนายพศวัต จงอรุณงามแสง เป็นผู้พิพากษา และมีนายสมพงศ์ เจียรจรูญศรีเป็นทนายฝ่ายโจทย์ของบริษัท นาราชา จำกัด และทนายความฝ่ายจำเลย คือนายแสงชัย รัตนเสรีย์วงศ์
ในการมาไกล่เกลี่ยครั้งนี้กลุ่มอนุรักษ์ฯ ย่าหมีได้ยืนถึงข้อเสนอต่อศาล 7 ข้อ คือ 1.บริษัท นาราชา จำกัด ต้องไม่ไถ ถาง เปลี่ยนแปลงสภาพป่าเกินจากเขตใบจองของชาวบ้านที่รัฐจัดให้เดิม 2.ต้องไม่สร้างท่าเทียบเรือส่วนตัวมารีน่าที่อ่าวคลองสน แต่ควรไปปรับปรุงท่าเทียบเรือสาธารณะที่มีอยู่เดิมเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน 3.หยุดปิดกั้นร่องน้ำและการถมทำลายแอ่งรับน้ำธรรมชาติในพื้นที่กรณีพิพาท 4.เปิดทางเดินสาธารณะ ( ซึ่งอยู่ในทางเดินในกรณีพิพาท ) ที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน 5.ทุกโครงการของบริษัท นาราชา จำกัด ที่จะดำเนินการในชุมชน ต้องผ่านความเห็นชอบของชาวบ้านก่อน 6.บริษัท นาราชา จำกัด ต้องเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าช่องหลาด , ป่าเกาะยาวใหญ่แปลงที่ 2 และแนวเขตพื้นที่ชายหาดสาธารณะ และ 7.ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ครอบครองตามใบจองและนส.3 โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและชุมชน โดยที่บริษัท นาราชา จำกัด ต้องเปิดพื้นที่ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ และยอมรับผลการพิสูจน์ โดยบริษัทฯต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ เช่น กรณี นายส้าฝาด ห่วงผลและนายส้อหล้า ห่วงผล , นายสุวรรณ หยั่งทะเล เป็นต้น ซึ่งทางทนายฝ่ายโจทย์ไม่รับข้อเสนอของกลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้านย่าหมี ดังนั้นทางผู้พิพากษาจึงนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 22 ธ.ค.53 |