homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ทุนยักษ์ผนึกต่างชาติยึดอันดามัน สงครามแย่งชิงทรัพยากร...ปะทุ !

ประชาชาติธุรกิจ   04 ตุลาคม 2553

ที่ผ่านมาแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวหรือเจอปัจจัยลบรุมเร้า รอบด้าน แต่พื้นที่ฝั่งอันดามันโดยเฉพาะภูเก็ต พังงา กระบี่ คลื่นการลงทุนในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการรุกคืบเข้าไปยึดครองที่ดินและ ใช้ทรัพยากรชายฝั่งทะเลเพิ่มขึ้น
วันนี้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่และสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรของจังหวัดภูเก็ต พังงารุนแรงขึ้นเท่าตัว ซึ่งเกิดจากฝีมือทั้งของกลุ่มทุน เจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมืองบางคน รวมทั้งชาวบ้าน

ดร.นลินี ทองแถม นักวิชาการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กล่าวว่า สถานการณ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต แบ่งเป็นบนบกกับทางทะเล ในส่วนของฝั่งบก ภูเก็ตมีป่าสงวนแห่งชาติ 10 กว่าแห่ง ส่วนใหญ่มีปัญหาการบุกรุกพื้นที่เพื่อใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและรองรับการขยายตัวของชุมชน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับปัญหาในทะเล พื้นที่ชายฝั่งส่วนใหญ่ได้รับการบุกรุก การก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ขาดทิศทางและมาตรการควบคุมจำนวนและกำหนดบริเวณที่เหมาะสม

นอกจากนั้น การก่อสร้างบนที่สูงยังได้ส่งผลกระทบถึงทรัพยากรในทะเลด้วย โดยเฉพาะแหล่งหญ้าทะเลและปะการัง ซึ่งเกิดจากการเปิดพื้นที่หน้าดิน การก่อสร้างท่าเรือมารีน่าและท่าเรือของท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 10 แห่งรอบเกาะภูเก็ต หรือเกิดจากการบุกรุกพื้นที่แนวปะการังโดยตรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ และมีการใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งทำมาหากินจับสัตว์น้ำมาก่อน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ของเกาะภูเก็ตมีความสำคัญแตกต่างกัน จึงควรแบ่งโซนการใช้ประโยชน์พื้นที่ว่าโซนไหนควรจะทำอะไรบ้าง

"ปัญหาที่ภูเก็ตคือขาดการวางแผน หรือมองพื้นที่ในภาพรวมว่าจังหวัดภูเก็ตสามารถที่จะรองรับนักท่องเที่ยวได้มากน้อยเท่าไร สิ่งก่อสร้าง น้ำกินน้ำใช้ การกำจัดขยะ ภูเก็ตสามารถรับได้เท่าไร เพราะถ้าพิจารณาแค่รายโครงการก็จะไม่มีปัญหาเลย แต่เมื่อโครงการต่าง ๆ มาอยู่รวมกันในพื้นที่ที่มีความจำกัดของทรัพยากร ก่อให้เกิดปัญหาอย่างที่คนภูเก็ตเจอทุกวันนี้ คือ ปัญหาการจราจร น้ำท่วม น้ำโคลนไหลลงทะเล หรือขยะล้นเมือง"

นอกจากการบุกรุกทำลายทรัพยากรอย่างหนักแล้ว ยังทำให้เกิดข้อพิพาทรุนแรงระหว่าง "ชุมชนกับกลุ่มทุนท้องถิ่น กลุ่มทุนระดับชาติ และกลุ่มทุนต่างชาติ"

ข้อมูลจากเครือข่ายองค์กรชุมชนชายฝั่งพังงา-ภูเก็ต และองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามันระบุว่า มีชุมชนหลายแห่งที่กำลังต่อสู้เรียกร้องกับกลุ่มทุนยักษ์เพื่อทวงคืนที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลนกลับคืนรัฐ และเป็นสมบัติของส่วนรวม กรณีตัวอย่างเช่น พื้นที่ อ.เกาะยาว จ.พังงา กลุ่มทุนอสังหา ริมทรัพย์ได้กว้านซื้อที่ดินตั้งแต่ ต.พรุใน ไปจนถึง ต.เกาะยาวใหญ่ และนำไปออกเอกสารสิทธิทั้ง ๆ ที่ที่ดินส่วนใหญ่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และมีความลาดชันเกิน 35 องศา ไม่มีเอกสารสิทธิมาก่อน จนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีกับข้าราชการ ที่เกี่ยวข้องหลายคนใน อ.เกาะยาว ที่ออกเอกสารสิทธิในทางส่อทุจริต

ล่าสุดกลุ่มอนุรักษ์บ้านย่าหมี อ.เกาะยาว ออกมาปกป้องป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด และเป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวถึง 2 ครั้ง ถูกบริษัท นาราชา จำกัด ฟ้องร้อง 17 ราย หรือกรณีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบในพื้นที่บ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา และป่าชายเลน บ้านกู้กู ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต

"เราขอยืนยันว่ากระบวนการจัดการทรัพยากรที่ดิน ป่า ทะเลโดยชุมชนท้องถิ่น เป็นหนทางเดียวในการพิทักษ์รักษาทรัพยากรให้ยั่งยืนได้ และจะเป็นประโยชน์โดยรวมของสังคม ซึ่งสังคมไทยพัฒนา ผิดพลาดมาตลอดหลายสิบปี และส่งผลกระทบเสียหายถึงฐานรากของชุมชน" นั่นคือเสียงของเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อันดามัน/อ่าวไทย ที่เรียกร้องสิทธิชุมชน ในการจัดการทรัพยากรให้มีผลจริง ในทางปฏิบัติตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น หากภาครัฐและฝ่ายการเมือง ยังละเลยและใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ สงครามแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ทะเล จะกลายเป็นระเบิดเวลาครั้งใหญ่ของประเทศไทย และยิ่งถูกตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำในที่สุด

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: