homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

กลุ่มพึ่งตนเอง (1)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16-31 ธันวาคม 2553

     

            คนจนมักถูกกล่าวหาว่า โง่  คนโง่มักจะจน เป็นคำพูดที่พูดกันติดปากจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเรียนสร้างความเข้าใจผิดให้กับเยาวชน หากแต่ความจริงก็คือ มนุษย์เราไม่ได้จนมาตั้งแต่เกิด หากแต่ถูกกระทำให้จนจากนโยบายของรัฐและโครงการพัฒนาประเทศบางโครงการ และเรามักจะถูกบอกให้รอการช่วยเหลือจากคนอื่น เราจะพ้นวัฏจักรความยากจนได้ด้วยการรอ...รอการช่วยเหลือจากคนอื่น และมักจะไม่บอกให้เราต้องพึ่งตนเอง  

                ในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาเราจะคุ้นเคยกับโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นให้เราอยู่อย่างพอเพียงและพึ่งพาตนเอง หลายๆ ชุมชนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการดำรงชีวิตอยู่ย่างพอเพียงนั้นสามารถพึ่งตนเองได้จริงๆ

                ที่ ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา มีชื่อเสียงในเรื่องการอนุรักษ์และจัดการป่าชายเลนจนมีชื่อเสียงในระดับประเทศ การมีทรัพยากรเป็นแหล่งหม้อข้าวที่ทำกินสร้างรายได้มีอาชีพนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวมีรายได้ แต่การจะพึ่งตนเองได้ต้องทำในทุกบริบทของครอบครัวและสังคม หมายความว่า ชุมชนช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคือครอบครัวต้องมีคุณภาพชีวิตทั้งทางด้านอาหารและสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย

                การรวมกลุ่มของชาวบ้านบางส่วนที่บ้านกลาง ต.บางเตย เพื่อพึ่งตนเอง โดยการรวมกลุ่มเลี้ยงเป็ดเทศ ซึ่งการเลี้ยงเป็ดเทศมีอยู่หลายกลุ่ม แต่กลุ่มเลี้ยงเป็ดเทศบ้านกลางมีความแตกต่างตรงที่การก่อเกิดกลุ่มมาจากฐานความคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสมาชิกกลุ่มต้องมีส่วนร่วมทุกกระบวนการของกลุ่ม เริ่มตั้งแต่ความต้องการเลี้ยงเป็ดเทศ ประชุมจัดซื้อลูกเป็ด จัดทำกองทุนอาหารสัตว์ การขายเป็ดเทศ ท้ายที่สุดคือสมาชิกกลุ่มต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ก็คือเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน การขายเนื้อเป็ดเป็นรายได้เสริมแล้วยังนำเนื้อและไข่เป็ดมาบริโภคในครัวเรือนอีกด้วย นอกจากนี้การใส่ใจดูแลสุขภาพเป็ดเทศที่เป็นสัตว์เลี้ยงให้สมบูรณ์และแข็งแรงเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องทำด้วย ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงสัตว์ เพราะการขายเป็ดเทศที่เจ็บป่วยหรือด้อยคุณภาพให้กับผู้บริโภคถือว่าไม่ซื่อสัตย์และเป็นการหลอกลวงลูกค้า

                จะเห็นได้ว่าการก่อเกิดของกลุ่มต้องมาจากความต้องการของชาวบ้าน ไม่ใช่การสั่งให้จัดตั้งกลุ่ม กลุ่มจึงจะอยู่ได้นาน สมาชิกมีส่วนร่วมในการคิดดังนั้นจึงมีความเป็นเจ้าของกลุ่ม

                ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงเป็ดหรือปลูกป่าชายเลนเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้เราพึ่งตนเองได้และมีวิถีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงสอดคล้องกับธรรมชาติ

                วิถีชิวิตอยู่อย่างพอเพียงและพึ่งตนเองได้นั้นอาจถูกคนที่อยู่ในลัทธิบริโภคนิยมดูหมิ่นดูแคลนว่าจน   ชาวบ้านหลายคนเชื่อว่าการพึ่งลมหายใจของเรา พึ่งพาชีวิตของเราเองนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: