homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

สมเกียรติ เจือจาน (ศิระ สิงหบัญชร)
คดีสมัชชาคนจนชุมนุมที่เขื่อนราษีไศล(๒๕๔๓)
ศาลฎีกาสั่งจำคุก ๑ ปี ไม่รอลงอาญา(๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔)

สมเกียรติเป็นชาวบ้านเพียมาต ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้เดือดร้อนจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลคนหนึ่ง เข้าร่วมต่อสู้เรียกร้องกับสมัชชาคนจนมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ สมเกียรติมีบทบาทเป็นแกนนำคนหนึ่ง และในหมู่บ้านเขาก็เป็นผู้นำชุมชนคนสำคัญ ล่าสุด ขณะที่เขาถูกสั่งจำคุกนี้ เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแค และได้รับเลือกเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแค

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลฎีกาสั่งลงโทษจำคุกสมเกียรติ ๑ ปี โดยไม่รอลงอาญา ในข้อหา “บุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อเสรีภาพ”กรณีสมัชชาคนจนบุกเข้าชุมนุมที่หัวงานเขื่อนราษีไศลเมื่อ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ และมีผลให้สมเกียรติต้องถูกจำคุกที่เรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ ทันที

เหตุการณ์(ที่ศาลไม่ได้ไต่สวน)ในขณะนั้นคือ หลังจากที่สมัชชาคนจนเคลื่อนไหวให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยที่ดินและการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ จนรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จ่ายค่าชดเชยให้ผู้เดือดร้อนประมาณ ๘๐๐ คนในเดือนตุลาคม ๒๕๔๐ และอีกเดือนหนึ่งต่อมารัฐบาลก็ลาออก มีพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่อ ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนักในช่วงนั้นทำให้นักการเมืองนำเรื่องการจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศลมาเป็นเครื่องมือโจมตีกันทางการเมืองกันอย่างเกรียวกราวหลายระลอก (โดยเฉพาะช่วงก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจและก่อนการเคลื่อนไหวขององค์กรประชาชนประท้วงรัฐบาลกรณีต่างๆ) โดยกล่าวหาว่ามีนักการเมืองพรรคความหวังใหม่ทุจริตเงินค่าชดเชย และพาดพิงชาวบ้านว่าร่วมกันทุจริต กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานฟ้องแพ่งชาวบ้านจำนวน ๔๑๕ รายเพื่อเรียกเงินคืน นายตำรวจใหญ่พลตำรวจโทเสรี เตมียเวส ออกมาให้สัมภาษณ์กล่าวหาชาวบ้านราษีไศลอย่างหนักหน่วง หน่วยงานราชการใช้เงินจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์โครงการละ ๕ ล้านเพื่อกระพือข่าวนี้ นักเคลื่อนไหวทางสังคมหลายคนออกมาประท้วงจนมีการฟ้องหมิ่นประมาทกันไปกันมาหลายคดีระหว่างปี ๒๕๔๑-๒๕๔๓

ชาวบ้านสมัชชาคนจนราษีไศลเมื่อผ่านจากการต่อสู้ยาวนานเพื่อสิทธิ์ จึงลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งเพื่อ “ศักดิ์ศรี” เพราะถูกกล่าวหาและถูกดูถูกอย่างหนัก จึงเปิดการชุมนุมต่อมาอีกหลายครั้งเพื่อท้าพิสูจน์ แต่ก็เป็นไปได้เพียงทำนอง “ตีนช้างเหยียบปากนก” เสียงของผู้มีอำนาจเบื้องบนไม่มีทีท่าจะคำนึงถึงคนยากคนจนว่าจะเกิดความคับแค้นต่อการกระทำดังกล่าวสักเพียงใด

จนถึงต้นปี ๒๕๔๓ สมัชชาคนจนราษีไศลปักหลักชุมนุมอยู่ในพื้นที่ป่าทามท้องอ่างเก็บน้ำบริเวณบ้านผึ้ง ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศลมาเป็นเวลาหลายเดือน เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเขื่อนเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ผู้เดือดร้อนทั้งที่รับค่าชดเชยไปแล้วแต่ถูกกล่าวหาว่าโกงเงินหลวงและสมาชิกอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับค่าชดเชย ทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลทำการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล แต่ไม่มีท่าทีจากรัฐบาลว่าจะรับฟังเสียงเรียกร้องหรือตอบสนองแต่อย่างใด

อนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ประจำเขื่อนกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศลขณะนั้นแย่เอามากๆ นายประสิทธ์ หวานเสร็จ นายช่างหัวหน้าเขื่อนเป็นคนแข็งกร้าว กราดเกรี้ยวกับชาวบ้าน และยังมีนายอำเภอชื่อ นายกรีศักดิ์ ไพบูลย์ ที่ตามขู่ปรามและออกหน้าปลุกระดมจัดตั้งชาวบ้านนอกพื้นที่มาต่อต้านกลุ่มผู้เรียกร้องแบบ “ม็อบชนม็อบ”หลายครั้ง และกล่าวกับชาวบ้านว่า “ถ้ารัฐบาลจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ให้เอามีดมาปาดคอผม”

คืนวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ชาวบ้านสมัชชาคนจนเคลื่อนพลเข้าไปชุมนุมที่หัวงานเขื่อนราษีไศล และชุมนุมต่อเนื่องมาอีกระยะหนึ่ง จนรัฐบาล ชวน หลีกภัย มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ให้เปิดบานประตูเขื่อนราษีไศลทั้ง ๗ บาน จนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิ์ผู้เดือดร้อน และมีการศึกษาผลกระทบทางสังคมโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วเสร็จ

เหตุการณ์คืนวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๓ นั้น เป็นที่มาของการออกหมายจับแกนนำ ๑๒ คน ทั้งแกนนำชาวบ้านและที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กระทั่ง ในปี ๒๕๔๗ จึงเริ่มมีการจับกุม “ไพจิตร  ศิลารักษ์” ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก ๒ ปี ฐานความผิดทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์และฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ สั่งจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนฎีกา

ฝ่ายสมเกียรติ เจือจาน เป็นคนที่ ๒ ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ ศาลชั้นต้นตัดสินไปตามแนวทางเดียวกันกับไพจิตร คือสั่งจำคุก ๒ ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

และเมื่อ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ศาลฎีกาก็สั่งจำคุกสมเกียรติ ๑ ปี ไม่รอลงอาญา
เขาต้องเดินเข้าคุกทันที เมื่อปีก่อนตอนศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก เขาก็ติดคุกจริงๆอยู่ ๗ วันก่อนได้รับประกันตัว ออกมาอยู่บ้านกับลูกเมียและญาติพี่น้อง ทำงานเป็นประธานสภา อบต. และต่อสู้ร่วมกับสมัชชาคนจนต่อไป แต่คราวนี้เขาต้องสูญเสียอิสรภาพไปเป็นปี และเสียสิทธิ์เสียคุณสมบัติที่จะอยู่ในตำแหน่งที่เคยทำงาน-ตลอดไปเพราะ”เคย”ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา เสียโอกาสที่จะทำมาหากินเช่นปกติ ลูกคนหนึ่งกับหลาน ๒ คน เคว้งคว้าง

อนาคตที่พึงควรมีของสมเกียรติถูกทำลายพังยับเยินลงแล้ว ด้วยเหตุเพราะเขาเป็นคนรักความเป็นธรรม ไม่ยอมจำนนและลุกขึ้นปกป้องสิทธิ์ของตน ต่อต้านอำนาจรัฐที่กดขี่ ในสังคมที่ขาดความเป็นธรรม

ช่วยเขา ช่วยลูกเมียและญาติพี่น้องเขา แล้วช่วยกันทำให้สังคมไทยน่าอยู่กว่านี้เถิด ต้องทำอย่างไรกันบ้าง เรารู้กันอยู่ดี ถ้าอคติไม่บังตา.

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: