นัดไต่สวนมูลฟ้องนักอนุรักษ์บ้านย่าหมีคดีปกป้องป่าสงวนแห่งชาติฯ
28 ก.พ. 54
กรณีกลุ่มนักอนุรักษ์บ้านย่าหมีปกป้องป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด ต.เกาะยาวใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือน ธันวาคม 2550 กลุ่มอนุรักษ์ฯ จำนวนกว่า 30 คนรวมตัวกันเข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด ที่เป็นป่าต้นน้ำของชุมชนหลังจากได้สังเกตเห็นมีการนำรถแบ็คโฮเข้ามาบุกรุก และถางไถ ปรับสภาพพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หลังจากนั้นต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ชาวบ้านย่าหมี จำนวน 17 ราย ได้รับหมายเรียก เป็นผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจภูธรเกาะยาวในข้อหาร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการ ใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร และกลุ่มอนุรักษ์บ้านย่าหมีได้ขึ้นศาลจังหวัดพังงา ที่ไต่สวนมูลฟ้องและไกล่เกลี่ยมาแล้วเมื่อปี 2552 และกลุ่มอนุรักษ์ได้มีข้อเสนอต่อศาลขอให้บริษัท นาราชา จำกัด ปฏิบัติตามข้อเสนอของชุมชน 7 ข้อ เรื่องให้บริษัท นาราชา จำกัดคืนป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาดและเป็นป่าต้นน้ำแก่รัฐและชุมชน
เช้าวันนี้ (28 ก.พ. 54) เวลา ประมาณ 09.30น. กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ที่ตกเป็นจำเลย จำนวน 17 ราย พร้อมด้วยญาติพี่น้องจากบ้านย่าหมี จำนวน 60 คน ร่วมเดินขบวนกับแกนนำนักอนุรักษ์บ้านย่าหมีที่ถูกบริษัท นาราชา จำกัด ฟ้องร้องในข้อหาร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร
โดยเริ่มเดินขบวนถือป้ายผ้าเขียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐเอาป่าสงวนให้นายทุน เอาคดีให้ผู้รักษาป่าสงวนและมาตรฐานคนรักษ์ป่าคือจำเลย บ.นาราชา ถูกต้องหรือไม่ ยุติธรรมหรือไม่ จากสวนสาธารณะสมเด็จศรีนครินทร์เดินเรียบถนนทางหลวงเพื่อมุ่งหน้าไปยังศาลจังหวัดพังงา เนื่องจากศาลจังหวัดพังงานัดไต่สวนมูลฟ้องโดยมีนายอภิชาติ เอ่งฉ้วน เป็นผู้พิพากษาห้องพิจารณาคดีบัลลังก์ที่ 2 และมีนายสมพงศ์ เจียรจรูญศรีเป็นทนายฝ่ายโจทย์ของบริษัท นาราชา จำกัด และทนายความฝ่ายจำเลย คือนายแสงชัย รัตนเสรีวงศ์
นางสาวรุ่งนภา ชายเลี้ยง แกนนำกลุ่มอนุรักษ์และเป็น 1 ใน 17 ผู้ต้องหา กล่าวว่า การมาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 เราขึ้นศาลมาตั้งแต่ พ.ศ.2552 พวกเราชาวบ้านย่าหมียืนยันข้อเสนอ 7 ข้อ คือ 1.บริษัท นาราชา จำกัด ต้องไม่ไถ ถาง เปลี่ยนแปลงสภาพป่าเกินจากเขตใบจองของชาวบ้านที่รัฐจัดให้เดิม 2.ต้องไม่สร้างท่าเทียบเรือส่วนตัวมารีน่าที่อ่าวคลองสน แต่ควรไปปรับปรุงท่าเทียบเรือสาธารณะที่มีอยู่เดิมเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน 3.หยุดปิดกั้นร่องน้ำและการถมทำลายแอ่งรับน้ำธรรมชาติในพื้นที่กรณีพิพาท 4.เปิดทางเดินสาธารณะ ซึ่งอยู่ในที่ดินที่เป็นกรณีพิพาทที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน 5.ทุกโครงการของบริษัท นาราชา จำกัด ที่จะดำเนินการในชุมชน ต้องผ่านความเห็นชอบของชาวบ้านก่อน 6.บริษัท นาราชา จำกัด ต้องเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าช่องหลาด , ป่าเกาะยาวใหญ่แปลงที่ 2 และแนวเขตพื้นที่ชายหาดสาธารณะ และ 7.ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ครอบครองตามใบจองและนส.3 โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและชุมชน โดยที่บริษัท นาราชา จำกัด ต้องเปิดพื้นที่ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ และยอมรับผลการพิสูจน์ โดยบริษัทฯ ต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ เช่น กรณี นายส้าฝาด ห่วงผลและนายส้อหล้า ห่วงผล , นายสุวรรณ หยั่งทะเล เป็นต้น
สำหรับการไต่สวนมูลฟ้องครั้งนี้เป็นการไต่สวนพยานปากแรกคือ ร.ต.ท.เกล้า พลนุ้ย เป็นร้อยเวรที่รับผิดชอบคดีนี้ ซึ่งใช้เวลาทั้งวันยังไม่เสร็จ จึงนัดไต่สวนครั้งถัดไปในวันที่ 5 เม.ย.54 |