homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

อนุปฏิรูปที่ดิน ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ตเอ็กซ์เรย์นายทุน-นักการเมืองรุกที่หลวง ฮุบที่ดินสาธารณะ

จาก  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ การเมือง : คุณภาพชีวิต
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554

อนุปฏิรูปที่ดิน ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ตเอ็กซ์เรย์นายทุน-นักการเมือง รุกที่หลวง ฮุบที่ดินสาธารณะ พบพื้นที่ป่าชายเลนหายไป 3-5 เท่า ปูดญาตินักการเมืองดังและนายทหารใหญ่นอกราชการ ยึดหัวหาดอ่าวย่าหมี จ.พังงานับพันไร่ “เพิ่มศักดิ์” จี้รัฐใช้ยาแรงกล้าทำข้อมูลที่ดินเปิดโปงใครฮุบที่รายใหญ่ "แม่สมปอง" เผยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศกว่าหมื่นเตรียมบุกทำเนียบ 16 ก.พ.นี้

คณะอนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากรธรรมชาติและน้ำ ที่มี ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ เป็นประธานฯ ในคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.)พร้อมคณะลงพื้นที่รับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชุมชนหาดราไวย์และมหาวิทยาลัยราชภัฎ จ.ภูเก็ต มีชาวบ้านผู้เดือดร้อนเข้าสะท้อนปัญหากว่า 300 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหาจากประชาชนที่มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ตนั้นนายธนู แนบเนียร ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและอันดามัน ได้นำเสนอรายงานปัญหาที่ดินและการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ไม่ยั่งยืนในพื้นที่ จ.ภูเก็ตและจ.พังงา โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในพื้นที่ จ.ภูเก็ตมีธุรกิจที่จดทะเบียนการประกอบการมากสุด คือ การก่อสร้างบ้านจัดสรรร้อยละ 40 และธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีอัตราการขยายตัวพอๆ กัน คือ ร้อยละ 40 และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างร้อยละ 13 แต่กลับไม่มีการจัดการผังเมืองอย่างเป็นชัดเจนและขณะนี้คนภูเก็ตกลายเป็นเพียงผู้เช่าอาศัยและเป็นคนพื้นเมืองที่ไม่มีที่อยู่ 

“เราพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนและที่ดินสาธารณะประโยชน์เพิ่มมากขึ้น โดยมีข้อมูลจากกรมที่ดิน จ.ภูเก็ตปี 2553 ว่าที่ดินสาธารณะ พื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดภูเก็ตลดลง 3 ใน 5 ของพื้นที่ทั้งหมด หากเทียบกับปี 2523 ที่เคยมีกว่า 2 แสนไร่ ตอนนี้เหลือเพียง 1.1 แสนไร่ ถือว่า 30 ปี พื้นที่เหล่านี้หายไปกว่า 9 หมื่นไร่ แต่สิ่งที่น่าตกใจระยะเวลาเพียง 10 ปีพบว่าที่ดินสาธารณะหายไปถึง 2 หมื่นไร่”นายธนู กล่าว

 นายธนู ยังกล่าวอีกว่า หลังจากเหตุการณ์สึนามิมีญาตินักการเมืองดังระดับสูง เข้าครอบครองที่ดินฝั่งทะเลอันดามันมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวย่าหมี อ.เกาะยาว จ.พังงา มีนายทหารนอกราชการ ซื้อที่หลายพันไร่ ทั้งที่เป็นการออกเอกสารถูกต้องและไม่ต้องถูกต้อง ซึ่งชาวบ้านก็รู้ดีว่าที่ดินบริเวณนั้นเป็นของใคร โดยเห็นได้ชัดเจนว่า มีการปฏิบัติสองมาตรฐาน เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่จับนายทุนหรือข้าราชการระดับสูงที่รุกที่ของหลวง แต่กลับวิ่งไล่จับชาวบ้านที่เพียงเข้าไปหาปลาในน่านน้ำที่เป็นเขตหวงห้าม

ขณะที่นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการฯ คปร. กล่าวภายหลังการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้พบว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่หาดราไวย์ถูกกระทำจากทั้งอำนาจรัฐและทุนด้วยการไล่รื้อและหลายคนถูกฟ้องร้องในข้อหาบุกรุกที่ดินของผู้อื่น ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่มีแม้กระทั่งที่อาศัยอาศัย ทั้งที่อยู่อาศัยและทำหามากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ชาวประมงจำนวนมากถูกริบเรือที่เป็นเครื่องมือทำกินอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่เข้าหาปลาในน่านน้ำของประเทศไทย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าเป็นการละเมิดด้วยการเข้าไปหาปลาในของรัฐ ทั้งที่ความจริงน่านน้ำถือเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนสามารถใช้ร่วมกันได้

“เราพบข้อมูลจากประชาชนว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยบกพร่องอย่างรุนแรงและคนจนถูกเลือกปฏิบัติและกลไกของรัฐที่มีอยู่ก็เอื้อประโยชน์ให้สำหรับคนมีฐานะเท่านั้น โดยเฉพาะการให้กรรมสิทธิในที่ดินที่เป็นชีวิตของประชาชน ทั้งนี้พบว่าพื้นที่ป่าชายเลนหลายแปลงที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปล่อยให้นายทุนและนักการเมืองระดับสูงเข้าไปบุกรุกเพื่อเตรียมก่อสร้างรีสอร์ตและบ้านจัดสรร ซึ่งบุคคลเหล่านั้นได้รับเอกสารสิทธิการครอบครองที่ดิน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นายทุนเข้าไปครอบครองพื้นที่บนเกาะทั้งที่ตามกฎหมายแล้วไม่สามารถกระทำได้”นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวและว่า หากมีการเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินอย่างชัดเจนก็จะทำให้ประชาชนรู้ว่า ใครเข้าครอบครองสิทธิ์แบบผิดกฎหมายบ้างและใครได้ที่ดินมาอย่างไม่ชอบระหว่างที่มีตำแหน่งใหญ่โตบ้าง เพราะตอนนี้ปัญาหลักๆ คือ การออกเอกสารสิทธิให้กับนายทุนเข้าไปครอบครอบพื้นที่เพียงคนเดียว 3-4 ไร่ ถ้าไม่ใช่ยาแรงก็แก้ปัญหามือใครยาวสาวได้สาวเอาได้

ส่วนกรณีที่นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรออกมาระบุว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปที่ให้แจกจ่ายที่ดินแก่ประชาชนที่ไม่ที่ดินทำกินนั้นอาจจะเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินทำกิน (สปก.)นั้น นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า สปก.ไม่ได้ทำหน้าที่ในการปฏิรูปที่ดินแต่ทำหน้าที่เพียงเอาที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาแจกเกษตรกร แต่สุดท้ายคนที่ได้สิทธิก็ยังเป็นคนมีเงิน ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง แต่คราวนี้เราต้องมีการจัดการให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างนั้นเกิดขึ้น เราทำผิดพลาดมาแล้ว 50 ปี ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขและปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง

ขณะที่นางสมปอง เวียงจันทร์ อนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นการรับฟังความทุกข์ยากของชาวบ้านเพื่อนำเสนอต่อสังคมจากก่อนหน้านี้เคยเสนอไปมาตรการเร่งด่วนในการปฏิรูปที่ดินไปแล้วหนึ่งครั้ง ส่วนกระแสไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปที่จำกัดการถือครองไม่เกินคนละ 50 ไร่นั้นคงไม่ทำให้กรรมการปฏิรูปต้องปรับแก้ไขอะไร เพราะถือว่าไม่เป็นมาตรการเราคิดเผื่อสำหรับทุกภาคส่วนแล้วว่า ความจำเป็นในที่ดินจริงๆ นั้นมีไม่มาก แต่ถ้าอยากจะถือครองมากก็ต้องจ่ายภาษี

อย่างไรก็ตามนางสมปอง ยังกล่าวอีกว่า การเดินหน้าปฏิรูปที่ดินยังมีอีกหลายเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ทราบว่า ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาที่ดินจากที่ทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นคนจะนัดรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล กรณีที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องจากรัฐอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งเรียกร้องให้จัดการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินอย่างเป็นระบบที่ทำเนียบรัฐบาล ทราบว่าการชุมนุมครั้งนี้จะไม่ได้อยู่กันเพียงวันเดียวแน่นอน โดยการรวมตัวครั้งนี้จะไม่เข้าร่วมกับกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เพราะกลุ่มคนจนจากปัญหาที่ดินไม่ได้ฝักใฝ่การเมือง

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: