homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เครือข่ายชุมชนชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต-พังงาจัดเวทีสาธารณะ เพื่อทวงคืนแผ่นดินมาเป็นสมบัติชาติจี้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบ

ASTVผู้จัดการออนไลน์  27 พฤศจิกายน 2554

       ที่ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต เครือข่ายชุมชนชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต-พังงา จัดเวทีสาธารณะเพื่อทวงคืนแผ่นดินมาเป็นสมบัติชาติ เพื่อนำเสนอสภาพพื้นที่ ปัญหาและการแก้ไขการบุกรุกป่าไม้ ที่ดิน และที่สาธารณะจังหวัดภูเก็ต พังงา และสุราษฎร์ธานี โดยมีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุกจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
       
       สภาผู้แทนราษฎร, พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 9 ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ ที่ดิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายไชยผดุง พรหมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายธนู แนบเนียร ตัวแทนชุมชนชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตและพังงา ร่วมเสวนา
       
       ทั้งนี้ มีตัวแทนจากชุมชนบ้านกู้กู ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ชุมชนบ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ตัวแทนบ้านทับยาง ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา และ ตัวแทนชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมนำเสนอปัญหาของแต่ละพื้นที่ สรุปสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วยการบุกรุกทำลาย ถางไถและออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนคลองบางชีเหล้า-ท่าจีน ชุมชนบ้านกู้กู หมู่ 3 ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ตจำนวน 50 ไร่ การบุกรุก ถางไถ
       
       การออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของชุมชน บ้านย่าหมี หมู่ 3 ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา บริษัทเอกชนถือครองโดยมีเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก จำนวน 11 แปลง รวมพื้นที่จำนวน 1,284 ไร่ ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน ทั้งทางแพ่งและคดีอาญารวม 3 คดี 21 คน ชุมชนสันติพัฒนาอาศัยอยู่ ณ ปัจจุบันตั้งอยู่ ม.6 ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี
       
       การบุกรุกทำลายและออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ในพื้นที่ป่าชายเลน 59.2 ไร่ ในเขตชุมชนบ้านในไร่ หมู่ 7 ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา และกรณีการออกเอกสารสิทธิโฉนดเลขที่ 972 และ 973 รวมเนื้อที่ 170 ไร่ โดยอ้างจาก สค.1 เลขที่ 124 ครอบครองโดยการผ่อนผัน โดยครอบครองจากการซื้อสิทธิจากนายอุทัย ณ ระนอง ผู้ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่แล้วนำมาออกโฉนดโดยมิชอบในพื้นที่บ้านทับยาง หมู่ 9 ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา
       
       ชาวบ้านที่ร่วมเสวนาในครั้งนี้ได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาและทวงแผ่นดินของชาติกลับมาโดยเฉพาะในส่วนของที่ดินในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ที่หลายหน่วยงานมีการตรวจสอบแล้วพบว่าการออกเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าวเป็นการออกเอกสารสิทธิโดยไม่ถูกต้อง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเพิกถอนการออกเอกสารสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด
       
       ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดพังงาก็เช่นเดียวกัน ซึ่งชาวบ้านต่างก็เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกโดยไม่ถูกต้อง พร้องเรียกร้องให้แต่งตั้งหน่วยงานที่เอกสารสิทธิที่ดินกับหน่วยงานเพิกถอนเป็นคนละหน่วยงานกัน
       
       โดยนายพร้อมพงศ์ กล่าวภายหลังการร่วมเวทีเสวนา ว่า ภาพรวมของปัญหาแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน โดยจะเป็นการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่สาธารณะและมีการนำไปออกเอกสารสิทธิ
       
       เช่น กรณีชุมชนบ้านกู้กู ซึ่งได้นำเสนอปัญหานายทุนบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 50 ไร่ และมีการนำไปขอออกเอสารสิทธิ และจากการตรวจสอบตามขั้นตอนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิไม่ถูกต้อง และมีการเสนอให้กรมที่ดินทำการเพิกถอน แล้วแต่ยังไม่มีการดำเนินการเพิกถอน
       
       เช่นเดียวกับชุมชนย่าหมี ซึ่งมีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อน และมีการตรวจสอบพบความผิดแล้วของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ปรากฏเมื่อเสนอไปยังกรมที่ดินก็ยังคงเพิกเฉย ไม่มีการดำเนินการใดๆ ทางชาวบ้านจึงได้มีการร้องเรียนและขอให้ไปเร่งรัดในเรื่องดังกล่าวให้มีความชัดเจน
       
       ในฐานที่ตนเป็นรองประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎรก็พร้อมที่จะเข้ามาตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการใช้อำนาจทางราชการไปในทางที่ไม่ถูกต้อง มีการเอื้อหรือร่วมมือกับกลุ่มทุนโดยใช้นอมินี สร้างอิทธิพลต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการที่แยบยลมากขึ้น ถือเป็นการปล้นเอาทรัพย์สมบัติของแผ่นดินไปหาประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง
       
       โดยจะมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และปัญหาทั้งหมดที่ได้รับนั้นก็จะได้นำไปเสนอต่อที่ประชุมพรรค เพื่อให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ตลอดจนนายกรัฐมนตรีได้รับทราบ ร่วมถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่ทางกลุ่มชุมชนเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องของหน่วยงานที่ออกเอกสารสิทธิ์ว่าควรจะเป็นคนละหน่วยงานกับที่จะทำการเพิกถอน เพราะปัญหาส่วนใหญ่แล้วจะไม่กล้าดำเนินการเนื่องจากเกรงจะก่อให้เกิดปัญหาและกระทบกับหน้าที่การงาน รวมทั้งอาจจะถูกฟ้องกลับได้
       
       “ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการบุกรุกแผ้วถางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าไม้ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ มีแนวโน้มรุนแรงมากชขึ้น และเป็นปัญหาหนึ่งที่ก่อให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จากข้อมูลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีป่าไม้ทั่วประเทศถูกทำลายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านไร่ ดังนั้น การที่ประชาชนลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในลักษณะของอาสาเครือข่ายพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่ดี และจะต้องนำไปเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: