homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ไม่สร้างไม่ได้หรือ?
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1- 15 มิถุนายน 2555

     

                      หลายครั้งที่ได้ยินข่าวโครงการสร้างโรงแรมหรูหราในภูเก็ต แอบหวั่นใจไม่ได้ว่า...จะพ่วงโครงการสร้างท่าเทียบเรือสำราญด้วยไหม? ทำไมจะต้องสร้างด้วย  ใช้ท่าเรือทีมีอยู่แล้วไม่ได้หรือ?

            ดูข่าวเมื่อหลายเดือนก่อนเขาพูดถึงทบทวนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น นักการเมืองที่สนับสนุนบอกว่าเป็นการป้องการน้ำท่วม ตามมาด้วยพาดหัวข่าวที่บอกว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท สร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและปัญหาแล้ง

            ถ้าไม่สร้างเขื่อนจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งไม่ได้หรือ? เหตุผลประกอบการสร้างเขื่อนนั้นเป็นเหตุผลสำเร็จรูปซ้ำๆ เดิมๆ ซึ่งมีภาคประชาชนและนักวิชาการหลายกลุ่มนำเสนอทางออกอื่น ซึ่งเป็นทางเลือกของการแก้ไขปัญหา แต่กลับไม่มีใครฟัง

            โชคดีบนความโชคร้ายของภูเก็ตที่เป็นเกาะ น้ำทะเลล้อมรอบจึงสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไม่ได้ หลายปีก่อนกระแสการสร้างท่าเรือสำราญหรือเรียกง่ายๆ ว่าท่าเรือมารีน่าตีคู่มากับนโยบายการท่องเที่ยวระดับโลก แม้ปัจจุบันกระแสจะแผ่วลง แต่ตราบใดที่ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับ World Class แนวนโยบาย 1 รีสอร์ตหรูบวกท่าเรือมารีน่าก็พร้อมจะผุดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ

            ฉันมีโอกาสสนทนากับแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ชาวบ้านกลุ่มนี้คัดค้านการสร้างท่าเทียบเรือสำราญในอ่าวคลองสนที่อยู่ในเขตหมู่บ้านย่าหมีมาโดยตลอด แม้ว่าขณะนี้กรมขนส่งทางน้ำจะเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว แต่ชาวบ้านมีเหตุผลหลักๆ ที่สำคัญและน่าใจสนต้องฟัง 2  ประการ

            ประการแรกอ่าวคลองสนเป็นอ่าวที่มีแหล่งหญ้าทะเลที่สมบรูณ์ 1 ใน 3 ของเกาะยาวใหญ่ หญ้าทะเลนี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญของ เต่าทะเล และสัตว์สงวน เช่น พะยูน มีการพบโลมาเข้ามาในอ่าวคลองสนทุกปี นอกจากนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ ทั้งหมดนี้คือระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันตั้งแต่ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลนและชายฝั่ง

            เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ “สิ่งสำคัญที่ชาวบ้านย่าหมีคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือมารีน่าก็คือ จะทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนย่าหมีเปลี่ยนไป” นั่นเป็นถ้อยคำจากใจของ กานดา  โต๊ะไม ไม่ว่าจะกี่ครั้งที่ฉันได้สนทนากับเธอผู้นี้ก็ยังยืนยันเจตนารมณ์เดิมไม่เปลี่ยนแปลง

            นัยยะทางความคิดของชาวบ้านย่าหมีที่บอกว่าการมาถึงและการมีท่าเรือมารีน่านั้น จะทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนย่าหมีเปลี่ยนไปนั้น ไม่ได้หมายความว่าคนย่าหมีจะปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมรับการพัฒนาดีๆ ที่จะเข้ามาในชุมชน แต่การพัฒนาที่ไม่สอดคล้องและมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในทางการทำลายรากเหง้า จิตวิญญาณนั้นคนบ้านย่าหมีคงรับได้ยาก!  ไม่ว่าใครก็รับไม่ได้....

            เรือยอร์ซ เรือสำราญ นั่นมันเป็นวัฒนธรรมข้ามชาติ โดยคนท้องถิ่นพยายามจะยัดเยียดให้กับชุมชนที่พยายามบอกว่าไม่ต้องการ เรือยอร์ซนั้นราคาแพงนับสิบล้านใช้ออกทะเลหาปลาไม่ได้เหมือนกับเรือหัวโทง ซึ่งเป็นทั้งเครื่องมือทำมาหากิน เป็นบ้านหลังที่สอง เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวประมง

            จริงอยู่ที่นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติจะนำเงินถุงเงินถังมาทิ้งไว้ที่ภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง แต่ถึงที่สุดแล้วชาวบ้านในหมู่บ้านจะได้อะไรบ้างนอกจากมีอาชีพรับจ้างกับเงินเดือน ไม่เท่าไหร่ในสิ่งปลูกสร้างที่นิยามมันว่าการพัฒนา

            หากชาวบ้านย่าหมีและรวมไปถึงชุมชนอื่นๆ บอกว่า พึงพอใจกับวิถีชีวิตและอาชีพอิสระเช่นนี้ และไม่ต้องสร้างท่าเรือสำราญจะได้ไหม? แล้ว “คุณ” จะไม่ลองฟังเสียงพวกเขากันหน่อยหรือ?


           
สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: