จ่อประเคนอันดามันให้กลุ่มทุนต่างชาติ
จากหนังสือพิมพ์ X-cite ไทยโพสต์ ฉบับ วันที่ 1 กันยายน 2551
มูลนิธิสืบฯ แฉกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ พานักธุรกิจต่างชาติดูพื้นที่หมู่เกาะอันดามัน หลังมีนโยบายเปิดสัมปทานให้เอกชนเช่าพื้นที่ป่าเพื่อทำธุรกิจท่องเที่ยว เผยเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน
บุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ให้เสื่อมโทรม
กรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีนโยบายเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาดำเนินการทำธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และที่พักในเขตพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติหลายแห่งเป็นเวลา 30 ปี รวมทั้งการให้บริการท่องเที่ยว โดยอ้างว่าเพื่อจะนำรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์มาช่วยเศรษฐกิจของประเทศนั้น
นายศศิน เฉลิมลาภ รองเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยและขอคัดค้าน เนื่องจากมีความกังวลว่านโยบายการเปิดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้เอกชนเช่าทำแหล่งท่องเที่ยว จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการทำลายแหล่งธรรมชาติและเกิดปัญหาในเรื่องขยะและน้ำเน่าเสีย เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาวและสร้างความสูญเสียต่อระบบนิเวศของพื้นที่โดยตรง
"สิ่งที่น่ากลัวคือ เมื่อมีการพื้นที่ป่าไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือหน่วยพิทักษ์ป่าเล็กๆ ในบริเวณที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปไม่ถึง ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกเจาะไปเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะทำให้โครงการพัฒนาต่างๆ ของภาครัฐเข้าไปสร้างความสูญเสียได้อีกด้วย"
นายศศินกล่าวว่า แม้ว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะมีการประชุมหาแนวทางกันอยู่ แต่ทราบว่านโยบายดังกล่าวล้ำหน้าไปไกลถึงขนาดพาชาวต่างชาติเข้าไปดูพื้นที่ในหมู่เกาะอันดามัน ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางการเข้ามาหาประโยชน์ของภาคธุรกิจเข้าไปแสวงหารายได้ในพื้นที่สาธารณะ เกิดการผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ปิดกั้นโอกาสประชาชนทั่วไปในการท่องเที่ยว เกิดกลุ่มทุนท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาใช้ประโยชน์ ทำให้คุณค่าของระบบนิเวศโดยรวมถูกทำลายและเสื่อมโทรมลงในที่สุด
รองเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าวเพิ่มเติมว่า การอ้างเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศนั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่และไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน เพราะเงินจากการท่องเที่ยวจะตกไปอยู่ในมือของนักธุรกิจมากกว่าส่วนรวม ทั้งนี้ ตนขอเสนอให้มีการกันพื้นที่นอกเขตป่าอนุรักษ์สำหรับการลงทุนของภาคธุรกิจอย่างเหมาะสม มีการจัดสรรทรัพยากรตามหลักวิชาการ ยกตัวอย่างเช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไม่มีการให้สัมปทานกับภาคเอกชนเช่าป่าระยะยาว แต่ทุกวันนี้ก็ให้มีรีสอร์ต หรือสถานที่พักผุดขึ้นมากมายโดยรอบป่าเขาใหญ่อยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องให้เอกชนบุกรุกในพื้นที่อุทยานแต่อย่างใด. |