ช่วยเต่าตะนุเกยตื้นป่าตอง
จากหนังสือพิมพ์เสียงใต้ ฉบับวันที่ 16 ก.ย. 2551
นายสัตวแพทย์สนธยา มายะวัฒนา สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เร่งช่วยชีวิตเต่าตะนุ เพศเมียหลังพบขึ้นมาเกยตื้นที่บริเวณชายหาดป่าตอง เมื่อ 16 ก.ย.
สัตวแพทย์สถาบันวิจัยเร่งช่วยชีวิตเต่าตะนุ ที่ขึ้นมาเกยตื้นบริเวณชายหาดป่าตอง พร้อมเผย ในรอบ 1 เดือนมีสัตว์ทะเลหายากขึ้นมาเกยตื้นในฝั่งทะเลอันดามันมากถึง 15 ตัว ส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย และติดเครื่องมือทำการประมง
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายสัตวแพทย์สนธยา มานะวัฒนา สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยนายก้องเกียรติ กิติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการ 7 ว. ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก และเจ้าหน้าที่เร่งช่วยชีวิตเต่าตะนุ เพศเมีย อายุประมาณ 10 ปี ขนาด 26 กิโลกรัม ซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกองเรือภาคที่ 3 หาดป่าตอง พบขึ้นมาเกยตื้นที่บริเวณชายหาดป่าตองเมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 ก.ย.ภายหลังรับแจ้งเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปรับและนำกลับมาปฐมพยาบาลที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและป่าชายเลนภูเก็ต ด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะ และให้น้ำเกลือ
นายสัตวแพทย์สนธยา กล่าวว่า ในเบื้องต้นคาดว่าเต่าตัวดังกล่าวมีโอกาสรอด 50:50 เนื่องจากเต่ามีสภาพร่างกายอ่อนเพลีย และน่าจะมีอาการป่วยมาก่อนหน้านี้นานแล้ว เนื่องจากบนกระดองเต่ามีตะไคร่น้ำขึ้นหนา ปอดบวม ค่อนข้างผอม ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะต้องเฝ้าดูอาการในบ่ออนุบาลอย่างใกล้ชิด
ในช่วงรอบ 1 เดือนนี้ ในพื้นที่สัตว์ทะเลอันดามันมีสัตว์ทะเลหายากขึ้นมาเกยตื้นแล้วประมาณ 15 ตัว โดยเป็นโลมาจำนวน 5 ตัว ซึ่งสาเหตุการการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการป่วยและถูกคลื่นมรสุมซึ่งมีกำลังแรกพัดเข้ามา มีปลาฉลามเสือดาวจำนวน 1 ตัว ส่วนที่เหลือเป็นเต่าทะเลซึ่งมีทั้งที่เสียชีวิตแล้ว และยังรอดชีวิตอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเครื่องมือทำการประมงของชาวประมง ทั้งอวนที่ยังใช้ในการทำการประมงและอวนที่ถูกตัดทิ้งลงทะเล นายสัตว แพทย์สนธยา กล่าว |