homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ระดมความคิดปกป้องอ่าวป่าคลอก
และเตรียมรับมือโครงการทำลายสิ่งแวดล้อม

22 กุมภาพันธ์ 2552

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 09.30 น. มีการเสวนาสถานการณ์อ่าวป่าคลอกกับการพัฒนาภาคใต้และกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณอ่าวป่าคลอก ที่ห้องประชุมโรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จัดโดยโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) ร่วมกับองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน มีผู้เข้าร่วมการเสวนาจาก ชาวบ้านป่าคลอก  ชาวบ้านยามู ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอก  นักวิชาการจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน  อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต  รวม 40 คน การจัดเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานสถานการณ์ความเป็นไปของอ่าวป่าคลอกภายใต้ยุทธศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต และการระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางการจัดการอ่าวป่าคลอกร่วมกัน

ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นางสาวลลิตา  ปัจฉิม นักวิชาการประมงระดับปฏิบัติการ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน  นายศาสตรา  ก้านกนก  รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอก  นางสาวดวงพร  บุญเลี้ยง  เจ้าหน้าที่โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา  และนางศยามล  ไกรยูรวงศ์ ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา โดยมีนายธนู  แนบเนียร ผู้ประสานงานองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน ดำเนินรายการ

นางสาวลลิตา  ปัจฉิม นักวิชาการประมงระดับปฏิบัติการ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ได้ให้ข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ทรัพยากรของอ่าวป่าคลอก เช่น หญ้าทะเลที่มีถึง 8 ชนิด จาก จำนวนทั้งหมด 12 ชนิด ซึ่งเป็นอาหารของพะยูน และเต่าทะเล  จากการสำรวจพะยูนที่อาศัยในอ่าวพังงามประมาณ 10  ตัว ซึ่งมีร่องรอยปรากฏว่ามีพะยูนเข้ามากินหญ้าทะเลในอ่าวป่าคลอกบ่อยครั้ง

นายศาสตรา  ก้านกนก  รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอก  กล่าวว่าในฐานะที่ตนเองเป็นคนพื้นที่โดยกำเนิด จึงรู้สึกหวงแหนทรัพยากรในอ่าวป่าคลอก และการดำเนินการเพื่อดูแลและปกป้องทรัพยากรชายฝั่งขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอกก็จะไม่เกิดผลกระทบสู่ชุมชน

นางสาวดวงพร  บุญเลี้ยง  เจ้าหน้าที่โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา ได้ให้ข้อมูลการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งอ่าวป่าคลอก ซึ่งพบว่า ยังมีชาวบ้านในชุมชนจำนวนหนึ่งที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในอ่าวป่าคลอก เช่น ทำการประมง  เก็บหอย  ตกปูดำ  และในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็หันมาทำการประมงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อนำไปประกอบอาหารเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

ส่วนทางด้านนางศยามล  ไกรยูรวงศ์ ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา ได้นำเสนอถึงแผนและนโยบายยุทธศาสตร์ระดับภาคใต้และระดับจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมุ่งเน้นไปในแนวทางการอุตสากรรมทการท่องเที่ยว แต่ก็ต้องการดำรงวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในทางปฏิบัตินั้นขัดแย้งกันอย่างมาก ดังที่เห็นเป็นกรณีปัญหาตัวอย่างคือที่ บ้านยามู บริเวณแหลมยามูมีการก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ และมีโครงการสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเล ปะการังน้ำตื้นที่อยู่ชายฝั่งอ่าวป่าคลอก

ก่อนปิดการเสวนา มีการะดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการเสวนา เพื่อเป็นแนวทางการในการจัดการทรัพยากรในอ่าวป่าคลอก ท่ามกลางการพัฒนาภาคใต้ ซึ่งมีแนวทางดังนี้ 1.ชุมชนบ้านป่าคลอกต้องสร้างเครือข่ายกับชุมชนอื่นที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง 2.องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในพื้นที่บ้านป่าคลอกควรจะทำงานกับชาวบ้านที่หลากหลายกลุ่มและอาชีพ 3.การใช้ชื่อชาวบ้านป่าคลอกในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งจะสร้างความภาคภูมิใจมากกว่าใช้ชื่อกลุ่มอนุรักษ์บ้านป่าคลอก
 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: