homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

แขวนโครงการมารีน่ายามู

หนังสือพิมพ์เสียงใต้   17 พ.ค 2552

นายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราช การจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ครั้ง 1/2552 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดภูเก็ต (POC) โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น ขนส่งทางน้ำภูมิภาคที่ 5 ฝ่ายปกครองอำเภอถลาง เจ้าพนักงานที่ดินส่วนแยกถลาง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ประมงจังหวัด เป็นต้น   นอกจากนี้ยังมีตัวแทนบริษัทเดอะยามู จำกัดและบริษัท แมกซ์ แปลน จำกัดเข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดโครงการที่นำเสนอเพื่อขอพิจารณาด้วย

สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเรื่องของบริษัทเดอะยามู จำกัด ซึ่งได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอสส์ บริเวณริมทะเลบริเวณแหลมยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยขอความเห็นเบื้องต้นจากทางจังหวัดว่าการก่อสร้างดังกล่าวจะขัดกับแผนพัฒนาจังหวัด กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกระทบกับสภาพแวดล้อมหรือไม่ เนื่องจากบริเวณที่ทำการก่อสร้างจะต้องขุดลอกพื้นที่ประมาณ 18,000 ลูกบาศก์เมตร ความลึกเฉลี่ย 1.65 ม. รองรับเรือได้ 39 ลำ และได้ผ่านการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) แล้วตั้งแต่ปี 2550

 ส่วนของคณะกรรมการชุดนี้เนื่องจากได้มีกลุ่มประสานงานเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต ร้องคัดค้านด้วยเกรงว่าหากมีการอนุญาตจะกระทบกับวิถีชีวิตของชาว ประมงพื้นบ้านและทรัพยากรพืชและสัตว์ทะเลบริเวณดังกล่าว จึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องดำเนินการ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ให้มีการทำความเข้าใจกับชาวบ้านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490
 รวมทั้งได้มีการรายงานต่อที่ประชุมว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทางบริษัทได้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ตั้งโครงการและหมู่บ้านใกล้เคียง รวมถึงการเข้าไปร่วมจัดกิจกรรมเพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จนทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น และทางอำเภอถลางยังได้รายงานว่า เครือข่ายประมงพื้นบ้านยามู กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านยามู ผู้   ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านยามู อบต.ป่าคลอกและผู้ปกครองท้องที่มีความเห็นร่วมกันว่า หากผู้ประกอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน IEE ก็ไม่ขัดข้องที่จะให้ดำเนินการ

 อย่างไรก็ตามทางด้านนางสาวนลินี ทองแถม นักวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กล่าวว่า ในช่วงที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นทางจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นขึ้น และมีข้อสรุปที่ให้ดำเนินการแก้ไขจำนวน 12 ประเด็น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตอบกลับมา ดังนั้นควรที่จะนำเอกสารดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย

 ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติให้ดำเนินการรวบรวมเอกสารรายละเอียดทั้งหมดตามที่คณะกรรมการเสนอ เพื่อสรุปรายละเอียดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และจะได้ส่งเรื่องให้กับทางสำนักงานขนส่งทางน้ำภูมิภาคที่ 5 เพื่อ ส่งไปให้กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีพิจารณาว่าจะออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างหรือไม่ เพราะอำนาจในการอนุญาตดังกล่าวเป็นของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาอนุญาตให้บริษัท แมกซ์ แปลน จำกัด ก่อ สร้างสะพานข้ามลำรางสาธารณประโยชน์คลองท่าเรือ บริเวณหน้าที่ดินของบริษัท แมกซ์ แอสเซ็ท จำกัด หมู่ที่ 3 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จำนวน 2 สะพาน ขนาดกว้าง 17 เมตร ยาว 8 เมตร และขนาด 8x8 เมตร

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: