homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ชาวบ้านยามูคัดสร้างมารีน่า หากไม่หยุด! จะฟ้องศาลปกครอง

29 พ.ค 52

จากการประชุมคณะกรรมการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ครั้ง 1/2552 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราช การจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการ และมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น ขนส่งทางน้ำภูมิภาคที่ 5 ฝ่ายปกครองอำเภอถลาง เจ้าพนักงานที่ดินส่วนแยกถลาง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ประมงจังหวัด เป็นต้น

สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเรื่องของบริษัทเดอะยามู จำกัด ซึ่งได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอสส์ บริเวณริมทะเลบริเวณแหลมยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยขอความเห็นเบื้องต้นจากทางจังหวัดว่าการก่อสร้างดังกล่าวจะขัดกับแผนพัฒนาจังหวัด กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกระทบกับสภาพแวดล้อมหรือไม่ เนื่องจากบริเวณที่ทำการก่อสร้างจะต้องขุดลอกพื้นที่ประมาณ 18,000 ลูกบาศก์เมตร ความลึกเฉลี่ย 1.65 ม. รองรับเรือได้ 39 ลำ และได้ผ่านการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) แล้วตั้งแต่ปี 2550  และมีการรายงานต่อที่ประชุมว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทางบริษัทได้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ตั้งโครงการและหมู่บ้านใกล้เคียง รวมถึงการเข้าไปร่วมจัดกิจกรรมเพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จนทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น และทางอำเภอถลางยังได้รายงานว่า เครือข่ายประมงพื้นบ้านยามู กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านยามู ผู้   ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านยามู อบต.ป่าคลอกและผู้ปกครองท้องที่มีความเห็นร่วมกันว่า หากผู้ประกอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน IEE ก็ไม่ขัดข้องที่จะให้ ดำเนินการ

ทางกลุ่มเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ตร้องคัดค้านตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เกรงว่าหากมีการอนุญาตจะกระทบกับวิถีชีวิตของชาว ประมงพื้นบ้านและทรัพยากรพืชและสัตว์ทะเลบริเวณดังกล่าว

จากมติที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องดำเนินการ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ให้มีการทำความเข้าใจกับชาวบ้านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490

จากการประชุมดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้าน ต.ป่าคลอก เดินทางมายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี  ผ่านหัวหน้าขนส่งทางน้ำที่ 5 ภูเก็ต  เรื่อง  คัดค้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญกีฬา(มารีน่า)แหลมยามู บ้านยามู ต.ป่าคลอก   เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 28 พ.ค.52  นายประพันธ์  ถิ่นเกาะยาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน 3 หมู่บ้าน ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต (บ้านผักฉีด บ้านยามู และบ้านบางลา) เป็นตัวแทนยื่นหนังสือ พร้อมตัวตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จ.ภูเก็ต รวม 4 คน  แต่หัวหน้าขนส่งทางน้ำที่ 5 ภูเก็ตไม่อยู่ นายสาคร  ปู่ดำ นักวิชาการขนส่ง ชำนาญการ จึงรับเรื่องแทน

และหากอนุญาตให้มีการก่อสร้างมารีน่าแหลมยามู ชาวประมงพื้นบ้าน ต.ป่าคลอกและเครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.ภูเก็ต ตลอดจนสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ จะร่วมกันฟ้องร้องดำเนินคดีเพิกถอนการอนุญาตต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช และศาลปกครองสูงสุดจนถึงที่สุด  และจะแจ้งความดำเนินคดีอาญาหากเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วยกฎหมาย   

โดยมีเหตุผลการคัดค้านการสร้างท่าเทียบเรือมารีนา ดังนี้ 1. พื้นที่ที่ขออนุญาตเป็นพื้นที่ในทะเล ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมขนส่งทางน้ำฯ  ที่จะพิจารณาอนุญาตตามกฎหมาย  ซึ่งกรมขนส่งทางน้ำฯ จะอนุญาตตามระเบียบและหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงที่ 63  ซึ่งกฎกระทรวงที่ 63 ทางประมงพื้นบ้านตำบลป่าคลอกได้พิจารณาแล้วว่า    กรมขนส่งทางน้ำฯ ไม่สามารถที่จะพิจารณาอนุญาตได้    เพราะการสร้างท่าเทียบเรือตามกฎกระทรวงที่ 63  เป็นการอนุญาตให้สร้างท่าเทียบเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการส่งคนและหรือสิ่งของเท่านั้น  ท่าเทียบเรือต้องมีโครงสร้างที่ไม่ทำให้ทิศทางการไหลเวียนของน้ำเปลี่ยนแปลง  มีช่องโปร่งระหว่างเสาไม่น้อยกว่า  3  เมตร  ต้องสร้างตามแนวเขตที่ดินที่ผู้ขออนุญาตมีกรรมสิทธิ์  หรือสิทธิครอบครองเป็นแนวตรงยื่นจากฝั่ง  ท่าเทียบเรือที่ผ่านชายหาดต้องไม่ปิดกั้นการที่ประชาชนจะใช้สอยหรือเดินผ่านชายหาด  แต่การขออนุญาตสร้างท่าเทียบเรือสำราญกีฬา(มารีน่า)นั้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงที่  63   กล่าวคือการสร้างมารีน่านั้น มีลักษณะการใช้ประโยชน์เป็นที่พักเรือหรือเป็นที่จอดเรือไม่ใช่ท่าเทียบเรือเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการส่งคน  และหรือส่งสิ่งของ  ดังนั้นการสร้างมารีน่าของเอกชนนั้นจะกระทำได้ในที่ดินที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์เท่านั้น  การที่กรมขนส่งทางน้ำฯ อนุญาตให้เอกชนสร้างท่าเรือมารีน่าในทะเลนั้น เป็นการละเมิดสิทธิประชาชนในการใช้สาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน  อย่างเช่นการอนุญาตก่อสร้างมารีน่าที่เกาะแรดตำบลป่าคลอกจังหวัดภูเก็ตเป็นการอนุญาตที่ผิดกฎหมาย  ความหมายของท่าเทียบเรือก็น่าจะปรากฏชัดซึ่งหมายความว่า ท่าสำหรับส่งคนและหรือสิ่งของ  และสามารถนำเรือเทียบจอดเพื่อส่งคนและหรือสิ่งของได้คราวละ 1 ลำ  การพิจารณาอนุญาตนั้นต้องคำนึงถึงความจำเป็นและอนุญาตให้พื้นที่น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น  การอนุญาตสร้างท่าเทียบมารีน่าที่แหลมยามูเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน  เพราะสร้างมารีน่าเพื่อเพิ่มมูลค่าที่พักอาศัยบนฝั่ง 

2.การอนุญาตเฉพาะรายตามกฎกระทรวงที่ 63 ข้อ 5 ซึ่งเป็นการอนุญาตนอกเหนือไปจากประเภทสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ตามข้อ 4 นั้น การพิจารณาอนุญาตตามข้อ 5 นั้น คงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต่อผู้ขออนุญาตที่มีความจำเป็นต้องสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำนั้น ถ้าไม่อนุญาตตามคำขอนั้นจะเป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อน จนไม่มีทางบำบัดแก้ไข หรือไม่สามารถดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนได้ แต่การอนุญาตให้เอกชนดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญกีฬา (มารีน่า) นั้น      ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเดือดร้อนของผู้ขออนุญาต และหลักการในการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างหรือปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำนั้น    คงเป็นเรื่องที่จะอนุญาตให้ได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่การขออนุญาตสร้างมารีน่าของเอกชนที่แหลมยามู บ้านยามูนั้นไม่ใช่สิ่งเดือดร้อนจนมีความจำเป็นต้องสร้าง ถ้าไม่อนุญาตแล้วจะก่อให้เกิดอันตรายแก่การเดินเรือ แต่ถ้าทางกรมขนส่งทางน้ำ ฯ พิจารณาอนุญาตก็จะเป็นการอนุญาตที่ผิดหลักการ และเอื้อประโยชน์ให้เอกชนที่ไปส่งเสริมการโฆษณาขายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บนฝั่งซึ่งได้บวกราคามารีน่าด้วย     และยังมีผลกระทบกับแหล่งหญ้าทะเลและแหล่งปะการัง ซึ่งหลักการอนุญาตต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก  และถ้าอนุญาตทางกรมขนส่งทางน้ำยังต้องรับผิดทางอาญา หรืออาจจะเป็นตัวการ หรือผู้สนับสนุน หรือร่วมกันกระทำความผิดเพราะไปละเมิดกฎหมายอื่น เช่นประกาศกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เรื่อง บริเวณกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2546 ข้อ 7 (8)   อีกด้วย   และการอนุญาตตามข้อ 5 แห่งกฎกระทรวงที่ 63  การอนุญาตเฉพาะรายนั้นยังไปละเมิดสิทธิประชาชนที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งทะเลเป็นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ประเภทประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่รัฐมิให้กรรมสิทธิ์แก่เอกชนหรือประชาชน ตามมาตราที่ 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งไม่อนุญาตให้เอกชนจัดหาประโยชน์ตามมาตรา  ที่ 10 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้นประชาชนทุกคนในประเทศมีสิทธิ์ใช้ประโยชน์ร่วมกัน   อันที่ไม่ไปละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์ของบุคคลอื่น การที่กรมขนส่งทางน้ำ ฯ จะอนุญาตนั้น จะเป็นการละเมิดสิทธิ์การใช้ประโยชน์ของประชาชนตามสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ   ดังนั้นมารีน่าจะก่อสร้างได้ก็คงเป็นที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์เท่านั้น ถ้าเป็นเอกชน เช่นภูเก็ตมารีน่า โบ๊ตลากูน เป็นต้น ยกเว้นกิจการของรัฐ ดังนั้นการอนุญาตตามข้อ 5 แห่งกฎกระทรวงที่ 63 นั้น จึงน่าจะมิชอบด้วย กฎหมายและหลักการ        

3.การอนุญาตสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามหลักการจะต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หากกรมขนส่งทางน้ำฯ อนุญาตการก่อสร้างมารีน่าที่แหลมยามู ไม่ใช่แต่เป็นการอนุญาตที่ผิดกฎหมายตามกฎกระทรวงที่ 63 แล้วเท่านั้น  จะเป็นการอนุญาตที่ผิดหลักการด้วย  เพราะในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดของจังหวัดภูเก็ตที่จะต้องอนุรักษ์ไว้มิให้ถูกทำลายในพื้นที่ก่อสร้างมารีน่า ยังเป็นแหล่งปะการังที่เป็นแหล่งวางไข่ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน  ตลอดเป็นแหล่งทำกินของชุมชนด้วย

และประการสุดท้าย พื้นที่ตำบลป่าคลอกเป็นพื้นที่นำร่องในการพื้นฟูทรัพยากรประมงทั้งตำบล  ซึ่งทางจังหวัดได้จัดงบประมาณ 1,600,000 บาท   เป็นโครงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ  ซึ่งเป็นโครงตามพระราชดำริ   ดังนั้นโครงการสร้างมารีน่าของเอกชนที่แหลมยามูจะกระทบแหล่งหญ้าทะเล แหล่งปะการัง   อันเป็นทรัพยากรฐานการผลิตทรัพยากรประมง หากกรมขนส่งทางน้ำฯอนุญาตก็จะเป็นการอนุญาตที่ผิดหลักการ การพิจารณาอนุญาตที่จะต้องคำนึงการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วย

นายประพันธ์  ถิ่นเกาะยาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน 3 หมู่บ้าน ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต (บ้านผักฉีด บ้านยามู และบ้านบางลา) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองไม่เคยได้รับทราบข่าวที่โครงการมารีน่ามาทำความเข้าใจกับชาวบ้านเลย และไม่เห็นด้วยที่จะสร้างท่าเรือมารีน่า เพราะทำลายทรัพยากรชายฝั่งของหมู่บ้าน

นายสุทา  ปะธีป ณ ถลาง ประธานเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลอง กล่าวว่า “จังหวัดภูเก็ตยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว  แต่การพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวนั้นมีความจำเป็นจะต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนด้วย  ปัจจุบันการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดมิได้คำนึงถึงการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอันจะเป็นปัญหาของจังหวัดภูเก็ตในอนาคต  การพัฒนาจะต้องมีทุกกลุ่มได้ประโยชน์และยั่งยืน  การใช้ประโยชน์ทรัพยากรของการท่องเที่ยวปัจจุบันเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง  จนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม  การสร้างมารีน่าที่แหลมยามูนั้นเป็นการใช้ประโยชน์ส่วนตนเกินความจำเป็นและมีผลกระทบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม     และจังหวัดภูเก็ตมีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวที่จะรองรับเรือสำราญกีฬาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่แล้ว      ตามแผนพัฒนาอ่าวภูเก็ต  โครงการไมค์มารีน่า งบประมาณ 63,500 ล้านบาท  ที่จะสร้างมารีน่าขนาดใหญ่ไว้บริการนักท่องเที่ยว  จึงไม่ควรส่งเสริมให้มีการสร้างมารีน่าไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทบกับวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่งจนได้รับความเดือดร้อน  และยังมีผลกระทบกับฐานผลิตทรัพยากรประมงอันมีผลต่อความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต”

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: