นายกฯเปิดทำเนียบ"สมัชชาคนจน"โวยพวกปลุกม็อบ
05 มิถุนายน พ.ศ. 2552 มติชนออนไลน์
.ExternalClass P {;} ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00น. วันที่ 5 มิ.ย. กลุ่มตัวแทนสมัชชาคนจน 70 คน เดินทางเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอข้อร้องเรียน โดย มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตย์ ที่ปรึกษานายกฯ และ นายนิพนธ์ บุญญภัทโร คณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี เข้าร่วม
ทั้งนี้ นายสวาท อุปฮาด แกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน กล่าวว่า ที่ผ่านมาข้อร้องเรียนต่างๆ ผ่านมา 6-7 รัฐบาล มีบางเรื่องที่ได้รับการแก้ไขบ้าง แต่บางเรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการได้รับการแก้ไข ซึ่งสามารถสั่งการได้เลย อาทิ กรณีน้ำท่วมนาข้าวบ้านโนนหนองราช กรณีของเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร ปัญหาเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กรณีที่สาธารณะประโยชน์ดอนหลักดำ จ.ขอนแก่น กรณียกเลิกเครื่องมือการประมงทำลายล้าง กรณีเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ และขอให้มีการทบทวนโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ การก่อสร้างท่าเรือหรือเขื่อนกันคลื่นและวางแผนยุทธศาสตร์พัฒนาภาคใต้ทั้งระบบ โดยการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นต้น
ด้านนายบารมี ชัยรัตน์ แกนนำสมัชชาคนจน กล่าวว่า สมัชชาคนจนพบว่า นอกจากการแก้ปัญหาแล้ว ยังมีปัญหาการไปสร้างความขัดแย้งขึ้นในชุมชน โดยปลุกระดมให้มีคนกลุ่มอื่นขึ้นมาต่อต้าน หรือบางหน่วยราชการ ก็ใส่เกียร์ว่างหรือเกียร์ถอยหลังด้วยซ้ำ การแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ความจริงไม่ใช่เรื่องยากถ้า ประชาชนและฝ่ายรัฐหันหน้าคุยกัน
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวกับตัวแทนสมัชชาคนจน ว่า ข้อมูลปัญหาต่างๆ ที่ถูกส่งเข้ามาถึงตน มีทั้งที่ตรงและไม่ตรงกัน ในส่วนของปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งมีการเคลื่อนไหวชุมนุมในหลายกลุ่ม เมื่อลงรายละเอียด บางเรื่องพบว่าเป็นเรื่องที่ดินป่าสงวน บางเรื่องเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน หรือ ประชาชนกับเอกชน สุดท้ายก็จัดให้มีการพบพูดคุยหารือกัน โดยต้องเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง และมีเป้าหมายร่วมกัน เช่น กรณีที่ทำกิน ตรงไหนที่ไม่ต้องไปแก้กฎหมายหรือกฎระเบียบ ก็เดินไป ส่วนอะไรที่ต้องแก้กฎระเบียบ ก็ไม่ปิดทางที่จะแก้ แต่ต้องเข้าใจว่า ไม่ได้ทำเพื่อรองรับกรณีใดกรณีหนึ่ง แล้วกระทบภาพรวมและหลักการ
นายกฯ กล่าวต่อว่า ระหว่างการทำงานเรื่องที่ดินทำกิน เกิดปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐไปจับกุมหรือขับไล่ ซึ่งรัฐบาลให้นโยบายว่า ในการหาข้อยุติหรือข้อตกลง เจ้าหน้าที่ยังไม่ควรดำเนินการใดๆในลักษณะนั้น แต่มีเจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่ ยืนยันว่าต้องทำ มิฉะนั้น ใครจะรับผิดชอบถ้ามีกลุ่มคนอีกฝ่ายที่ไม่พอใจ ไปร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ตนมีความตั้งใจที่จะทำ และเชื่อว่าบางเรื่อง เราจะทำได้ ขณะที่บางเรื่อง อาจต้องรอรัฐบาลชุดต่อๆไปดำเนินการ เพราะปัญหามีมาก
“การแก้ปัญหาต่างๆที่ถูกส่งเข้ามา จะใช้รูปแบบการตั้งคณะกรรมการก็ได้ โดยจะให้นายสาทิตย์ เป็นประธาน เพราะถ้าเรื่องอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นศูนย์กลางที่จะประสานไปยังกระทรวงต่างๆ เช่นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ อีกทั้งสามารถเสนอองค์ประกอบของคณะกรรมการเข้ามาได้ว่าควรเป็นอย่างไร ส่วนการปฏิบัติจริง ก็ต้องมีการทำแผนลำดับการแก้ปัญหาก่อนหลังเพื่อใช้ในการเร่งรัดการแก้ปัญหา และจะมอบหมายให้คุณหญิงสุพัตราและนายนิพนธ์ช่วยดำเนินการเรื่ององค์ประกอบและการวางแผนต่างๆ ผมยืนยันว่าถ้ามีการส่งเรื่องมายังบุคคลเหล่านี้ เรื่องจะถูกรายงานมาถึงผมแน่นอนเพื่อจะได้สั่งการต่อไป”นายกฯกล่าว และว่า สำหรับปัญหาความขัดแย้ง อาจมีประชาชนบางกลุ่มที่ไม่พอใจคนที่ออกมาเรียกร้อง แต่ตนยืนยันว่า ไม่มีนโยบายให้หน่วยงานราชการไปสร้างมวลชนเทียมขึ้นมาจงใจให้เกิดความขัดแย้ง
ส่วนนายสาทิตย์ กล่าวว่า จะนัดประชุมนัดแรกเพื่อจัดลำดับประเด็นปัญหาต่างๆของสมัชชาคนจน ในวันที่ 11มิ.ย.นี้ เวลา 09.30น.ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาปัญหาเร่งด่วน 16 เรื่อง ทั้งนี้ได้เชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านต่างๆ มาประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มสมัชชาเพื่อให้ได้ความชัดเจนด้วย
|