homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ชาวกู้กูไม่พอใจผวจ.ภูเก็ตแก้ปัญหาไม่จริง    

หนังสือพิมพ์เสียงใต้ วันที่ 13 มิ.ย 2552 

‘สาทิตย์’ลงภูเก็ตรับฟังปัญหา 30 ชุมชน ทั้งโต้แย้งกรรมสิทธิ์ สาธารณูปโภค

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 12 มิถุนายน 2552 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต ร่วมประชุมแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการกั้นแนวเขตที่ดินชุมชน ปัญหาที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยและหนี้สิน ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองโดยมีนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นาย  สมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายทศพร เทพบุตร นายเรวัต อารีรอบ และนางเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ส.ส.จ.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ตจากจำนวน 30 ชุมชน เข้าร่วมชี้แจงปัญหาและแนวทางการแก้ไข โดยใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นได้เดินทางลงตรวจพื้นที่บ้านกู้กู หมู่บ้านคลองเกาะผีและหมู่บ้านไทยใหม่ ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต 

นายสาทิตย์ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า การมาตรวจราชการในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญด้านการท่องเที่ยว และมีประชาชนจากหลากหลายพื้นที่มาอยู่รวมกัน ดังนั้นในเรื่องของการใช้พื้นที่การใช้ประ โยชน์และการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
“ในช่วงที่ผ่านมาได้มีผู้ร้องเรียน เกี่ยวกับปัญหาการจัดการที่ดินของจังหวัดภูเก็ต และการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการมาตรวจราชการครั้งนี้ คิดว่ามีผลน่าพอใจอย่างมาก เพราะทั้งในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งประชาชนซึ่งทุกคนต่างรู้ปัญหาและมีเป้าหมายร่วมกัน ดังนั้นในครั้งนี้จึงสามารถมีทางออกของปัญหาอยู่ คือ 1.ปัญหาของพื้นที่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตทราบข้อมูลแล้ว และทำเรื่องเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ โดยเฉพาะในกรณีที่เข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลนหรือที่สาธารณะส่วนปัญหาที่ชาวบ้านเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีการอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินและมีการโต้แย้ง ก็เข้าสู่กระบวนการและมีตัวแทนของกรมที่ดิน พร้อมที่จะเข้าไปสู่กระบวนการตรวจสอบเรื่องสิทธิ์ที่ดิน”

ส่วนกรณีที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลนที่บ้านกู้กู ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งชาวบ้านต้องการรักษาเอาไว้ เมื่อมีการตรวจสอบแล้วพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย ต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในโอกาสต่อไป

นายอนุชา อาจหาญ รองประธานชมรมอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านกู้กู ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และ พังงา ของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาตามคำร้องขอของสมัชชาคนจน ซึ่งมีเรื่องป่าไม้ที่ดินและชายฝั่งทะเลอยู่ในชุดของประมงพื้นบ้านอันดามันด้วย นั้น จากการที่ประชุมร่วมกับจังหวัดภูเก็ตและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของราชการ โดยมีนายสาทิตย์ เป็นประธาน ที่ห้องประชุมตึกใหม่ ศาลากลาง จังหวัดภูเก็ต แล้วรู้สึกว่า ชาวบ้านกู้กู ไม่พอใจพฤติกรรมของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่ออกมาตัดบทกรณีที่มีการออกเอกสิทธิ์ทับพื้นที่ป่าชายเลนแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน โดยอาสาที่จะแก้ปัญหาเสียเองทั้งๆที่หาก ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แก้ปัญหา เรื่องนี้ก็คงไม่ถึงนายกรัฐมนตรี ความเป็นจริงพวกเราก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่เลือก สส.พรรคประชาธิปัตย์มาทั้งสิ้นแต่ทำไมเมื่อพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกลับ เอาผู้ว่าราชการที่มีความรู้สึกว่าไม่เข้าใจชาวบ้านเลยมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หรือมาเพราะเรียน วปอ.รุ่นเดียวกับน้องชายของนักการเมืองระดับชาติ
นายอนุชา กล่าวว่าเอกสารสิทธิ์ที่ดินทับป่าชายเลนแปลงนี้เป็นที่ทราบกันดี ว่าเป็นที่ดินของอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยและช่วงหนึ่งมีชื่อเป็นเลขาธิการพรรคการเมืองระดับชาติ จากเหตุผลนี้หรือไม่ที่ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกมาป้องตัดบทในการประชุม แต่เมื่อถึงช่วงบ่ายซึ่งเป็นการลงพื้นที่ด้วยตัวเองของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชาวบ้านได้ร่วมกัน กันผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตออกจากรัฐมนตรีไม่ให้เดินประกบ และตัวแทนชาวกู้กูก็นำภาพประกอบการบรรยายถึงที่มาที่ไปของการครอบครองที่ดินของอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนายสาธิตรับปากว่าจะนำเรื่องนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและจะพิจารณาสั่งการตามเนื้อผ้าต่อไป 

พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนนิล รักษาการผู้เชี่ยวชาญพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ด้านป่าไม้ที่ดิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่าคดีนี้มีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.อ.เมือง ภูเก็ต แล้ว แต่ประชาชนมาร้องเรียนร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกทางหนึ่งซึ่งได้จัดพนักงานสอบสวนลงพื้นที่สืบสวน สอบสวน แล้วมีความน่าเชื่อว่ามี สค. 1 บินมาสวมทับ และผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศและผู้เชี่ยวชาญด้านที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน อ่านแปลที่ดินแปลงนี้ไว้น่าสนใจมากอย่างเช่น อ่านแปลระบุว่าที่ดินแปลงนี้มีความเค็มมากสภาพดินไม่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืชเศรษฐกิจ พันธุ์ไม้ที่จะเจริญเติบโต ได้ต้องเป็นจำพวก ไม้โกงกาง ลำพูน ลำแพน เป็นต้น นอกจากนั้นยังชี้ว่าที่ดินแปลงนี้ไม่มีการทำประโยชน์มาก่อนแต่อย่างใด 

พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ที่ครอบครองที่ดิน ไม่น่าจะมีความผิดเนื่องจากมีการซื้อขายมาจากบุคคลอื่น ที่กล่าวว่าอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยน่าจะผิดนั้น หากดูตามหลักฐานไม่น่าจะเข้าข่ายผิด แต่กรมที่ดินน่าจะพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์

ประเด็นความคืบหน้า กรณีชุมชนชาวไทยใหม่ราไวย์ ที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชนในเรื่องนี้พยายามหาทางออกด้วยการประนีประ นอมเจรจากับเจ้าของที่ดิน ซึ่งมอบผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและคณะ ตลอดจน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้าไปช่วยกัน อย่างไรก็ดีในเบื้องต้น จะต้องพิจารณาเรื่องสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐาน เช่น เรื่องน้ำประปา กระแสไฟฟ้า และทางพนักงานการประปาส่วนภูมิภาครับปากว่า จะเข้าไปดูแลร่วมกับทางเทศบาลต.ราไวย์
อย่างไรก็ตามได้ขอให้จังหวัดรวบรวมประเด็นปัญหาทั้งหมดในภาพ และการแก้ไขปัญหาในแต่ละเรื่องว่าได้มีการดำเนินการไปแล้วอย่างไร นายสาทิตย์ กล่าว และว่าจากที่ฟังจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านที่เดือดร้อนพบว่าเป็นไปในทางที่ดี เพื่อให้การแก้ปัญหายุติ และเป็นผลดีกับทุกฝ่าย
นอกจากนี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงเรื่องโฉนดชุมชนด้วยว่า เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล และหลักของเรื่องนี้กำลังจะร่างมติคณะรัฐมนตรี และออกมาเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งสำหรับที่ดินของที่จังหวัดภูเก็ต ก็มีอยู่หลายแปลง และหากส่วนราชการพร้อมที่จะส่งมอบให้เป็นโฉนดชุมชนก็สามารถทำได้ โดยมีเงื่อนไขว่าองค์กรชาวบ้านที่ไปดูแลการใช้พื้นที่จะต้องมีความเข้มแข็ง เพราะโฉนดชุมชนไม่สามารถที่จะนำไปจำหน่ายจ่ายโอนหรือจำนอง จำนำได้ ซึ่งประเด็นนี้มีหลายพื้นที่ดำเนินการอยู่แล้ว และประเด็นของโฉนดชุมชนก็จะดำเนินการครอบคลุมทั่วประเทศ และปัจจุบันนี้มีพื้นที่ที่พร้อมจะเข้าโครงการประมาณ 30 พื้นที่และพื้นที่ที่มีความพร้อมเพิ่มเติมอีก 10 กว่าพื้นที่ด้วย และโฉนดชุมชนจะเป็นการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน เพราะที่ดินไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชนและเอาไปจำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้ โดยนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมเท่านั้น และคิดว่าประมาณเดือนกรกฎาคม น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจน

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตอบข้อถาม ในส่วนของปัญหาที่ดินในชุมชนชาวไทยใหม่ ราไวย์ด้วยว่า ต้องเข้าใจทั้งสองข้าง คือ ฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอ้างว่าได้มาโดยชอบ แต่ฝ่ายชาวบ้านบอกว่าอยู่อาศัยมานานแล้ว ฉะนั้นเรื่องนี้การแก้ไขปัญหาต้องใช้วิธีการประนีประนอม แม้ว่าแต่ละฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องกันได้แต่ไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหา และสิ่งที่ได้ให้แนวจังหวัดเอาไว้ คือการไปเจรจากัน ถึงจุดหนึ่งเมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเงินพร้อมที่จะซื้อและเจ้าของที่ดินขายให้ในราคาที่เหมาะสม มันก็อยู่กันได้ แต่ปัญหาที่ลึกไปกว่านั้นคือ คุณภาพชีวิตคน วันนี้ ต้องไปดูก่อน เพราะมีกรณีการถูกคุกคามจากหนี้นอกระบบ เข้าไปทำร้าย การ สนับสนุนให้มีน้ำ ไฟ ได้รับสิทธิพื้นฐาน ในการดำรงชีวิตด้วย การเป็นพลเมืองที่ดี เรื่องนี้ต้องไปดูแลก่อน และจะทำทันที และดีใจที่องค์กรที่เกี่ยวข้องในภูเก็ต มีความพร้อมมาก ไม่ว่าจะเป็น ประปาส่วนภูมิภาค ไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและจังหวัดภูเก็ต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกฝ่าย ยินดีช่วยเต็มที่

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: