homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ชุมชนชายฝั่งจ.ภูเก็ต-พังงาร้องคณะกรรมการสิทธิฯ  
เร่งแก้ไขปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรของนายทุน

ชาวบ้านชุมชนชายฝั่งอ่าวป่าคลอกเดือดร้อนหนัก  หลังจากทางจังหวัดภูเก็ตส่อเค้าว่าจะเปิดทาง  อนุมัติให้นายทุนก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือมารีน่ายามู  

เมื่อวันที่  21 ตุลาคม  2550  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  นำโดยนายวสันต์  พานิช   พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่  ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในพื้นที่   จ.ภูเก็ต ที่ได้มีชาวบ้านยื่นหนังสือร้องเรียนในเรื่องการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชาวบ้านที่ให้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่ง  

โดยเมื่อเวลา 10.00 น. คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่  ได้ลงพื้นที่ ดูโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญอ่าวฉลอง จ.ภูเก็ต  ซึ่งขณะนี้ทางกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีได้ดำเนินการก่อสร้างในเฟสแรกไปแล้ว  ทางกลุ่มแกนนำชาวบ้านอ่าวฉลองได้ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่มีการก่อสร้างในเฟตแรกไปแล้ว ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ต้องได้รับความเดือดร้อน เพราะมีตะกอนที่เกิดจากการก่อสร้างได้ถูกกระแสนน้ำพัดพาไปถมแหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการังน้ำตื้น ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ทำให้จำนวนสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด  นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเดินเรือที่ต้องคอยหลบหลีกสิ่งก่อสร้างในทะเลจนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย  และการดำเนินงานก่อสร้างนั้นพบว่าคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามรายงานการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่เคยบอกชาวบ้านไว้  เช่น การทิ่งตะกอนลงในทะเลนั้นได้ตกลงกันว่าจะทิ่งในเวลากลางวัน  แต่ทางบริษัทที่รับผิดชอบกลับลักลอบนำไปทิ้งในเวลากลางคืน เป็นต้น  จึงทำให้ชาวบ้านไม่เกิดความมั่นใจในการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือเฟสที่สองนี้ชาวบ้านอ่าวฉลองจึงต้องการให้มีการยกเลิกโครงการดังกล่าว

จากนั้นในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 13.00 น. ได้เดินทางต่อไปยังบ้านยามู   หมู่ที่ 7  ต.ป่าคลอก     อ.ถลาง จ.ภูเก็ต   พร้อมกับรับฟังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน  สำหรับพื้นที่บ้านยามูนั้น หลังจากที่ชาวบ้านเข้าร้องเรียนพร้อมกับยื่นหนังสือให้ทางจังหวัดยกเลิกการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือมารีน่ายามู         

ล่าสุดได้มีแหล่งข่าวแจ้งว่า ทางจังหวัดภูเก็ตอาจจะมีคำสั่งอนุมัติก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือมารีน่าบ้านยามู  ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้กับชาวบ้านบ้านยามูเป็นอย่างมาก

“ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการชี้แจงให้กับทางคณะกรรมการสิทธิฯทราบแล้ว   คาดว่าทางจังหวัดเองก็กำลังดำเนินการพิจารณาให้มีอนุมัติใบอนุญาตให้ก่อสร้างโครงการได้ ในเรื่องนี้ขอให้ชาวบ้านได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด   เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและชุมชน  ” นายวสันต์ กล่าว

ทางแกนนำชาวบ้านยามูแสดงความคิดเห็นว่า “หากทางจังหวัดปล่อยให้มีการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือมารีน่าจริงตามที่ได้ข่าวมา  ปล่อยให้ทะเลสาธารณะเป็นทะเลส่วนตัวเช่นนี้ จะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต.ป่าคลอกและพื้นที่ใกล้เคียงที่หาอยู่หากินกับทะเลผืนนี้   ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก  นอกจากนี้ปะการังน้ำตื้น และแหล่งหญ้าทะเล  ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหายากจะหมดลงแล้ว  อ่าวป่าคลอกซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะก็จะเหลือเพียงตำนานก็เป็นได้”

นอกจากทางบริษัท เดอะยามู จำกัด อาจจะได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างสะพานมารีน่าแล้ว ทางบริษัทก็ยังได้เข้ามาครอบครองเส้นทางสาธารณะของชุมชน ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางออกไปสู่ทะเล เพื่อประกอบอาชีพประมง แต่หลังจากที่บริษัทเข้ามาดำเนินโครงการก่อสร้างบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวแล้วได้ปิดกั้นเส้นทางสาธารณะดังกล่าวด้วย โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ  จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความเดือดร้อน   ซึ่งทางสาธารณะนี้นายสมิทธิ์  ปาลวัฒน์วิไชย  รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้ลงพื้นที่พร้อมกับนำข้อมูลไปศึกษาแล้ว และยืนยันว่าทางเส้นนี้เป็นทางสาธารณะจริง เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันว่าเส้นทางมีการใช้ประโยชน์มานานกว่า 30 ปีแล้ว  จึงได้รับปากชาวบ้านยามูว่าจะเร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้โดยเร็ว

ทั้งนี้ในการพูดคุยกันชาวบ้านยังไม่ทราบว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เพียงแต่ได้เคยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น     แต่เท่าที่ทำได้ขณะนี้คือการที่ชาวบ้านต้องร่วมมือร่วมใจ มีความสามัคคีกันในชุมชน เพื่อช่วยกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป

พร้อมกันนี้ได้มีกลุ่มชาวบ้านจากบ้านในไร่ ต.บางเตย  อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ได้เดินทางเข้ามายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิฯขอความช่วยเหลือให้เร่งติดตามความคืบหน้า ในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อกรณีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบทับพื้นที่ป่าชายเลน และการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนของกลุ่มนายทุนที่ชาวบ้านได้ร่วมกันปลูกไว้เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ แหล่งหากินของชาวบ้านในชุมชน  และเป็นกำแพงธรรมชาติป้องกันคลื่นลม  แต่ก็ต้องถูกทำลายไป

พบว่าหลังจากที่มีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับโลก  ในพื้นที่   จ.ภูเก็ต  พังงา และกระบี่  ทำให้มีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาขออนุญาตก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่มากมาย   ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวให้ได้รับความสะดวกสบาย  จนทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนในที่สุด

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: