homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ท่าเรือเดอะยามูภูเก็ต เจอเบรกใบอนุญาตก่อสร้าง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์   2 มิถุนายน 2552

ภูเก็ต - กำนันผู้ใหญ่พร้อมสมาชิก อบต.ยื่นหนังสือขอผู้ว่าฯ ภูเก็ต ชะลอออกใบอนุญาตสร้างมารีน่าเดอะยามู เผยรายงานสวล.ยังไม่เรียบร้อย

นายรอฉาด ท่อทิพย์ กำนันตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน 9 หมู่บ้าน และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอกบางส่วน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอให้ชะลอการอนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าเดอะยามู

นายรอฉาด กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวความคืบหน้าของขออนุญาตก่อสร้างท่าเรือมารีน่าเดอะยามู ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ครั้งที่ 1/2552 ซึ่งได้มีการรายงานในตอนหนึ่งว่า เครือข่ายประมงพื้นบ้าน อบต.ป่าคลอก และผู้ปกครองท้องถิ่นมีความเห็นร่วมกันว่าหากผู้ประกอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน IEE ก็ไม่ขัดข้องที่จะให้ดำเนินการ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง

ดังนั้นที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลป่าคลอก 9 หมู่บ้าน และสมาชิก อบต.บางส่วนจึงขอคัดค้านให้ชะลอการอนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากเกรงผลกระทบที่เกิดขึ้น และยังมีข้อท้วงติงของคณะกรรมการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข

ด้านนายวิชัย ได้รับเรื่องไว้ และขอไปตรวจสอบรายละเอียดความชัดเจนที่มาที่ไปของโครงการว่าเป็นอย่างไร เบื้องต้นก็ต้องชะลอการอนุญาตออกไปก่อน

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม สำหรับโครงการดังกล่าวยังไม่มีการอนุญาตก่อสร้าง แม้ว่าที่ผ่านมาการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นจะผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ การพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณจังหวัดภูเก็ต และทางคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจะเห็นชอบในหลักการไปแล้วก็ตาม แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องลงไปชี้แจงทำความเข้าใจกับคนในชุมชน เนื่องจากมีการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่บางส่วน นอกจากนี้ทางจังหวัดภูเก็ตยังได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความสมบูรณ์ของ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า แหลมยามู ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2550

จากการตรวจสอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ พบว่ามีรายละเอียดในประเด็นที่ไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ จำนวน 13 ประเด็น เช่น ทางเลือกจุดที่ตั้งของโครงการ, รายละเอียดด้านทรัพยากรประมงสัตว์บนดินและสัตว์ทะเลหายาก ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศน์ในบริเวณใกล้เคียง ไม่ได้ระบุองค์ประกอบของตะกอนดินในบริเวณที่จะขุดลอกไม่ได้ระบุพื้นที่และบริเวณหญ้าทะเล ปะการังที่สูญเสียจากการดำเนินโครงการ เป็นต้น

นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ดังกล่าวยังได้มีข้อเสนอแนะประกอบด้วยว่า โครงการที่ดำเนินการขออนุญาตส่วนใหญ่เป็นลักษณะการแยกส่วน จึงควรกำหนดให้ผู้ประกอบการนำเสนอภาพรวมของทั้งโครงการที่จะขออนุญาตเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ภาครัฐและท้องถิ่นยังขาดประสิทธิภาพในการติดตามตรวจสอบให้ดำเนินการ ตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีการนำเสนอไว้ในรายงานฯ เนื่องจากขาดงบประมาณและบุคลากร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเสนอของบประมาณในการติดตามตรวจสอบ รวมทั้งตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบ

ซึ่งประกอบด้วยสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการติดตามตรวจสอบ และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้ประกอบการจัดจ้างสถาบันการศึกษาหรือบริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการติดตามมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ในรายงาน และการก่อสร้างท่าเทียบเรือ รวมทั้งท่าเทียบเรือสำราญ มักก่อสร้างในทะเลอันเป็นที่สาธารณะและมีผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งมีผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ของกลุ่มอาชีพอื่น เช่น ประมง เดินเรือ เป็นต้น

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: