นักธุรกิจเมินลงทุนภาคใต้ตอนบน
มติชนรายวัน 24 สิงหาคม 2552
ยื่นขอบีโอไอ7เดือนแค่"4พันล้าน" นครศรีฯ6โครงการ-ภูเก็ตอันดับ2
นางวนิดา ใหม่กิจเหมา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 6 (บีโอไอ) เปิดเผยว่า สภาวะการลงทุนในพื้นที่ 7 ภาคใต้ตอนบนช่วง 7 เดือนระหว่างมกราคม-กรกฎาคมปี 2552 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจำนวน 24 โครงการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2 โครงการ หรือ 9.09 เปอร์เซ็นต์ งบฯลงทุน 4,128 ล้านบาท ลดลงกว่าปี 2551 ที่มีการลงทุน 12,352 ล้านบาท หรือ 66.58 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการจ้างงานมากถึง 2,304 คน เพิ่มเป็น 24.34 เปอร์เซ็นต์ เป็นการลงทุนของต่างชาติทั้งสิ้นและร่วมหุ้นกับชาวไทย 11 โครงการ
นางวนิดากล่าวว่า โครงการที่ได้รับส่งเสริมลงทุนมากที่สุดเป็นกิจการบริการและสาธารณูปโภค เช่น โรงแรมที่พัก จำนวน 13 โครงการ เงินลงทุน 2,918 ล้านบาท กิจการเกษตรกรรมผลิตผลการเกษตร 7 โครงการ เงินลงทุน 1,035 ล้านบาท พื้นที่ลงทุนมากที่สุดอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช 6 โครงการ เงินทุน 1,207 ล้านบาท เป็นกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราและผลิตพลังงานทดแทน รองมา จ.ภูเก็ต 5 โครงการ เงินทุน 889 ล้านบาท เป็นกิจการโรงแรม, อุปกรณ์ทางการแพทย์และที่ปรึกษาการลงทุน จ.ชุมพร 4 โครงการ เงินทุน 1,215 ล้านบาท เป็นโรงงานน้ำมันปาล์ม, ผลิตพลังงานทดแทน, ขนส่งทางทะเล โดยที่ จ.พังงา ยังไม่มีโครงการอนุมัติลงทุน
นางวนิดากล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในภาคใต้ตอนบนปีนี้คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 40 โครงการ เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ต่ำกว่าปี 2551 เล็กน้อยจาก 47 โครงการ เงินลงทุน 17,925 ล้านบาท สำหรับพื้นที่ คาดว่าจะลงทุนสูงยังคงเป็น จ.ภูเก็ต ตามด้วย จ.สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, กระบี่ และ จ.ชุมพร ตามลำดับ กิจการประเภทบริการและสาธารณูปโภค โรงแรมที่พัก และประเภทแปรรูปผลิตผลการเกษตรจากยางพาราและปาล์มน้ำมันยังคงมีความสนใจสูง
"ปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนปีนี้ มาจากด้านต่างๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ, ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน, ราคาพืชผลทางการเกษตร, การท่องเที่ยวที่ชะลอตัว, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และความเชื่อมั่นของนักลงทุน" นางวนิดากล่าว |
|